Blog

KATALYST

ทำความรู้จัก KATALYST โครงการเร่งศักยภาพให้ Startup ไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

Aug, 2019

ปี 2019 นี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วย Digital Economy (DE) ยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง เคียงข้างไปกับการอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วของ Startup ไทย นักลงทุนจากทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจและมองหา Startup รายใหม่ๆ เป็นผู้เล่นในเกมธุรกิจ แต่จะทำอย่างไรให้ Startup ไทยแข็งแกร่งและเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ

จุดนี้ คุณสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ผู้ดูแลโครงการ KATALYST จะมาฉายภาพให้ชัดเจนขึ้นว่า KATALYST คืออะไร และจะสามารถเร่งศักยภาพให้ Startup ไทย เติบโตได้อย่างยั่งยืน ตอบรับโอกาสที่กำลังเปิดกว้างนี้ได้อย่างไร ไปติดตามกัน

Q : KATALYST มีความเป็นมาอย่างไร และคำว่า “เพื่อนสนิทของชาว Startup” หมายถึงอะไร
คุณสุปรีชา : จริงๆ เริ่มต้นอย่างนี้ก่อน คือในกระบวนการเกิดของ Startup มีจุดสำคัญที่สุด 2 จุด จุดแรกคือ Idea และ Passion ว่าจะทำอะไร อีกส่วนคือระหว่างทางในการทำงาน เขาอาจต้องเจอโจทย์ธุรกิจต่างๆ แต่หลายรายยังขาดประสบการณ์ ยังไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาบางอย่างอย่างไร KATALYST ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารกสิกรไทย จำกัด จึงมีการกำหนดจุดยืนในฐานะ “เพื่อน” ที่สามารถช่วยเหลือ Startup และเร่งศักยภาพ ให้ Startup ไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ด้วยปัจจัย 2 ประการ

หนึ่งคือ เรามีธุรกิจหลายด้านที่สามารถมาต่อยอดให้กับ Startup ได้ แน่นอนว่างานของ Startup จะมีส่วนที่เกี่ยวกับ Payment (ระบบชำระเงิน) หรือธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ซึ่งกสิกรเองก็เป็น Digital Banking อยู่แล้ว เราจึงเน้นการให้คำแนะนำ และการนำบริการต่างๆ ของเรามาเชื่อมโยงเพื่อสร้างประโยชน์แก่เขา

สำคัญกว่านั้นคือส่วนที่สอง คือคำว่า “เพื่อน” ให้มองว่า KATALYST เป็นเพื่อนรุ่นพี่แล้วกัน เราเหมือนพี่เลี้ยงที่จะเข้ามาแนะนำในหลายเรื่อง เช่น ปัญหาที่เราเคยเจอ เราแก้ปัญหาอย่างไร Startup ที่เริ่มใหม่เปรียบเหมือนคนตัวเล็กๆ จะเดินไปคุยกับธุรกิจรายใหญ่ก็ไม่ง่ายนัก อาจพบโจทย์ยากๆ ที่เขาไม่คุ้นเคย KATALYST ก็จะเป็นคนพาเขาไปแนะนำว่าการติดต่อธุรกิจรายใหญ่มีจุดไหนที่ควรระวังบ้าง เตรียมความพร้อมให้เขาเจอกับสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร เป็นเพื่อนที่พร้อมที่จะค้นหาศักยภาพไปด้วยกัน

Q : จุดแตกต่างของ KATALYST กับโครงการ Accelerator อื่นๆ คืออะไร
คุณสุปรีชา : ถ้าพูดถึงศักยภาพ จริงๆ หลายบริษัทไม่ใช่เฉพาะธนาคารก็มีโครงการประเภท Accelerator หรือโครงการบ่มเพาะให้ Startup ซึ่งทุกคนก็มีเจตนาที่ดี โดยส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น Batch อบรมในช่วงระยะเวลาหนึ่ง มาช่วยกันค้นหาสิ่งที่จำเป็นร่วมกัน แต่ในมุมของ KATALYST เราคิดว่าการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแค่ช่วงเวลาสั้นๆ บางครั้งอาจยังไม่พอ ความมุ่งมั่นของเราจะแตกต่างตรงที่เราคัดเลือกเคสที่คิดว่าสามารถทำธุรกิจได้จริง นำมาทำงานด้วยกัน เหมือนเราเป็นเจ้าของโปรเจกต์ร่วม ลองทำงานร่วมกับเขา ถ้าเขาประสบความสำเร็จ เราก็ประสบความสำเร็จไปกับเขา แต่ถ้าเฟล เราก็เฟลด้วย ซึ่งในระหว่างการทำงาน เราจะมุ่งใส่ Resource เข้าไปอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านกำลังเงิน กำลังคน รวมทั้งกำลังสมอง พยายามทำให้ชิ้นงานที่ทำร่วมกันนี้สามารถออกสู่ตลาดให้ได้ และตอบโจทย์ให้กับลูกค้าของทางธนาคารได้จริง

ทั้งนี้ Startup ในโครงการ KATALYST แต่ละรายจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน อยู่ในมิติที่แตกต่างกัน เราจึงไม่เคยกำหนดระยะเวลาว่าต้องอยู่ด้วยกันกี่วัน กี่เดือน แต่แน่นอนว่าต้องมีการวัดผล ไม่ใช่ทำไปอย่างไร้จุดหมาย แต่จะยึดเป้าหมายของแต่ละชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์ เป็น Milestone ที่เราตัดสินใจร่วมกัน เรียกว่าทำการพัฒนาและทำงานด้วยกันในระยะยาว นี่คือจุดแตกต่างของ KATALYST

Q : Win-Win Solution ตามที่ KATALYST ตั้งเป้าหมายไว้ จะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร
คุณสุปรีชา : เมื่อมองถึงรูปแบบ Startup ทั่วโลก จะเห็นว่าทุกคนมาด้วยนวัตกรรม ประกอบกับ 2 สิ่งที่ทำให้ Startup แข็งแรง หนึ่งคือ เขาไม่มีกรอบแนวคิดเก่าๆ ฉะนั้นเขาจะคิดอะไรที่สด เร็ว ไม่ยึดติดกรอบเดิมๆ สองคือความคล่องตัว ต่างจากการทำงานในระบบธนาคาร

ตัวอย่างเช่น ถ้าธนาคารจะทำโปรเจกต์สักชิ้น เราต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาและขออนุญาตมากมาย แต่ Startup มีความคล่องตัวที่จะทำได้เร็วและปรับโฟกัสได้ดีกว่า การทำงานผ่าน Startup จะช่วย ตอบโจทย์ของลูกค้าและตลาดโดยใช้ความเร็วและความคล่องตัวของเขาได้ ถือเป็น Win สำหรับธนาคาร

ในส่วนของ Startup แทนที่จะลองผิดลองถูกเองทั้งหมดหรือเสียเวลาไปสำรวจตลาดด้วยตนเอง KATALYST จะมีโจทย์ที่ชัดเจนให้ มีคลังข้อมูลจากลูกค้าประมาณ 80-90% การทำงานร่วมกันจะช่วยให้เขามี Learning Curve ที่เติบโต สามารถเรียนรู้ที่จะสร้างบริการหรือผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาดได้จริง เหมือนเราช่วยสร้างทางลัดให้ ถือเป็น Win สำหรับ Startup

สุดท้าย เมื่อได้นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่พร้อมใช้งานก็จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าและภาคธุรกิจของ Startup โดยรวม ถือเป็น Win สำหรับลูกค้าของธนาคารครับ

Q : พันธมิตรของ KATALYST สามารถช่วยเหลือและสนับสนุน Startup ได้อย่างไรบ้าง
คุณสุปรีชา : ด้วยความที่ Ecosystem นี้ใหญ่มาก ในส่วนของ KATALYST แรกเริ่มเรามุ่งมั่นที่จะเป็นสะพานเชื่อม Startup ให้เข้าสู่ตลาด ช่วยหาคำตอบและ Solution ต่างๆ ให้เกิดความสำเร็จ สิ่งที่แน่นอนคือองค์ความรู้ ทั้งในด้านธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่ KATALYST มี

ถัดมาคือเรารู้ว่าใครกำลังทำอะไรอยู่ ใครสามารถช่วยเราในเรื่องอะไรได้ สิ่งหนึ่งที่พบมากในการเริ่มต้นทำ Startup คือ ความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย โดยเฉพาะข้อจำกัด อะไรทำได้และทำไม่ได้ Startup หลายรายแม้กระทั่ง ในต่างประเทศ เมื่อถึงจุดหนึ่งอาจพบว่ามีสิ่งที่ละเมิดหรือฝ่าฝืนข้อกฎหมายโดยไม่ได้ตั้งใจ เราจึงมีพันธมิตรอย่าง Baker McKenzie บริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย ซึ่งมีทั้งความเข้าใจและลงทุนด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก มาเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำกับ Startup ในฐานะ Free Consultant ทั้งในแง่กฎหมายทั่วไปหรือการให้คำแนะนำเฉพาะด้าน

พันธมิตรสำคัญอีกราย คือ เมืองไทยประกันชีวิต ต้องบอกว่าสำหรับ Startup นอกจากผู้ก่อตั้ง พนักงานที่มาร่วมกันสร้างนวัตกรรมก็มีส่วนสำคัญมาก แต่ด้วยการทำงานของ Startup สิ่งที่จะต่างจากการทำงานบริษัทในองค์กรใหญ่ๆ คือ สวัสดิการ เป็นเรื่องยากมากที่บริษัทเล็กๆ ระดับ 5-10 คนหรือแม้กระทั่ง 20 คน นอกจากประกันสังคมแล้ว จะสามารถเข้าถึงประกันสุขภาพได้อย่างเต็มรูปแบบ ในจุดนี้ เมืองไทยประกันชีวิต จะเข้ามาช่วยทำแพ็คเกจประกันหมู่ที่เหมาะสมให้กับ Startup คือนอกจากจะดูแล Business Model ทางการตลาดแล้ว เรายังดูแลพนักงานของเขา รวมถึงครอบครัวของเขาด้วย เพื่อลดอัตราการเปลี่ยนงาน ทำให้คนตัดสินใจและกล้าที่จะมาทำงานกับ Startup มากขึ้น

Q : บทบาทของ Beacon ในฐานะผู้ดูแลโครงการร่วมกับ KATALYST เป็นอย่างไร
คุณสุปรีชา : จริงๆ ต้องบอกว่าในกสิกร เรามีหน่วยงานที่ทำงานกับ Startup เยอะมาก เฉพาะแค่กองทุนจริงๆ มี 2 กอง Beacon Venture Capital ถือเป็น Major Capital ที่ลงทุนตั้งแต่ระดับ Series A ขึ้นไปจนถึงระดับที่เตรียมจะ Exit แล้ว เป็นการลงทุนในลักษณะ Financial Investor และเรายังมี KVision เป็นบริษัทที่ลงทุนในลักษณะ Strategic Investment คือลงทุนในสัดส่วนหุ้น เพื่อเข้าร่วมตัดสินใจหรือช่วยกำหนดทิศทางบางอย่าง

ในส่วนของ KATALYST เมื่อ Product ของ Startup ดีพอ และถึงขั้นที่ต้องการระดมทุนเพื่อขยายตลาดหรือทำอะไรเพิ่มเติม นักลงทุนผู้ร่วมดูแลโครงการ KATALYST อย่าง Beacon Venture Capital ก็พร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุน ซึ่งไม่ใช่แค่การให้เงินทุน แต่ยังเป็น Financial Consultant หรือที่ปรึกษาทางการเงิน ควบคู่ไปกับการทำงานของธนาคารกสิกร ที่สามารถให้ความรู้ในด้านการบริหารจัดการการเงิน เพราะฉะนั้นก็จะเป็นส่วนเสริมกันไปครับ

Q : Startup ที่อยากเข้าร่วมโครงการ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
คุณสุปรีชา : อันดับแรกเลย ถ้าไม่มีไอเดียเลยไม่ได้นะครับ อันนี้ขอออกตัวชัดเจนเลยว่า KATALYST ไม่ได้มุ่งเน้นการสร้างสรรค์ไอเดีย ที่ต้องเน้นจุดนี้เพราะ Idea กับ Passion ต้องมาจากตัวผู้ประกอบการก่อน เขาต้องมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่อยากจะเอาชนะ ต้องเจอปัญหาบางเรื่องที่รู้สึกไม่โอเคกับสถานะแบบนี้ ไม่โอเคกับ ผลิตภัณฑ์แบบนี้ มีแนวคิดที่จะเอาชนะให้ได้ อยากสร้างสรรค์อะไรที่ดีกว่านี้ พอมีไอเดียเป็นจุดเริ่มต้น ตรงนี้ KATALYST เองยังไม่ได้ลงไปส่งเสริมชัดนัก คุณอาจจะไปเริ่มต้นอบรมหรือพัฒนาไอเดียจากที่อื่นก่อนก็ได้ จน Product Concept ของคุณชัดเจน มีทีมงานที่พร้อมทำ อาจจะมีแค่ 2-3 คนก็ได้ อย่าง Horganice ( Startup เกี่ยวกับการจัดการระบบหอพัก) ตอนเจอผมครั้งแรก เขาก็ไม่ได้ทีมขนาด 10-20 คน เขามีแค่ 3 คนเองมั้ง แต่ก็เป็น 3 คนที่เขาสามารถบอกได้ว่าแต่ละคนทำหน้าที่อะไรบ้าง เป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจน

จากนั้นจะถึงจุดที่มานั่งคุยกัน เพราะเราเชื่อมั่นว่าทัศนคติเป็นเรื่องสำคัญ เป็นการปรับจูนกัน หากเป็นคนที่ไม่ ประนีประนอมหรือไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรเลย หรือบางคนไร้จุดยืน เราต้องการเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยนตามหมด ก็อาจจะทำงานยากหน่อย ต้องหาจุดสมดุลด้วยกัน

Q : ความคาดหวังกับ KATALYST ในอนาคต
คุณสุปรีชา : สิ่งที่เราคาดหวังก็คือ ถ้า KATALYST ประสบความสำเร็จแล้วเดินต่อไปได้ เราจะสามารถสร้าง Startup ที่เป็นเพื่อนที่ช่วยให้กสิกรสามารถนำเสนอสิ่งดีๆ ให้กับลูกค้าของทางธนาคาร รวมทั้งอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะต้องสู้กับ Digital Disruption ได้ เราอยากเห็น Startup ยืนได้ด้วยตัวของตัวเอง ไม่ใช่แค่การขอความช่วยเหลือจากแบงก์ แต่เขาเองก็ได้องค์ความรู้บางอย่างที่สร้าง Impact ในตลาด ปีแรกเราทำร่วมกับ Startup จำนวน 4 ราย ได้แก่ Flowaccount , Builk One , Horganice และ Shippop ปีถัดไปอาจมีสัก 20 ราย ถ้าอีกสัก 5 ปี สามารถมีในลิสต์ได้สัก 100 ราย อันนี้เป็นความฝันเลยครับ

Back