Blog

KNOWLEDGE

5 วิธีคิดสำหรับผู้นำและเจ้าของกิจการในยุค Digital Disruption

July 7, 2020

การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องเผชิญกับ Digital Disruption ที่เข้ามาท้าทายในการปรับตัวหรือทรานส์ฟอร์มองค์กรในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันก็อาจจะถูกแทนที่ด้วยธุรกิจใหม่ได้

โมเดลธุรกิจในยุค Digital Disruption นั้นก้าวไปไวมาก และมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบกับทุกๆ กิจการ นี่จึงเป็นโจทย์ของ “ผู้นำธุรกิจ” ที่จะต้องหาทางออก หันมาวิเคราะห์สถานการณ์ ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อให้ธุรกิจของตัวเองอยู่รอดในการแข่งขันนี้

ความสำคัญของ Digital Disruption ต่อโลกธุรกิจ

Digital Disruption เป็นการเปลี่ยนแปลงธุรกิจโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) มาเป็นหลักในการพัฒนา เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในโลกธุรกิจให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก

ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีต่างๆ เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อย่าง Big Data, Blockchain, AI, Cloud Storage และอื่นๆ โดยนำมาพัฒนาร่วมกับวิสัยทัศน์ของแต่ละองค์กร รวมเข้ากับความต้องการของลูกค้าในเวลานั้น จึงจะเกิดเป็นการ Digital Disruption ได้

ปัจจุบันมีธุรกิจจำนวนมากที่ไม่สามารถปรับตัวตามเทคโนโลยีได้ทัน และถูกธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทนิตยสารต่างๆ ที่ทยอยปิดตัวลง จากการ Disrupt ของ Social Platform ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอ่านบทความหรือติดตามข่าวสารบนช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น

Digital Disruption จึงเป็นเหมือนคลื่นลูกใหม่แห่งการทำธุรกิจในอนาคต และได้สร้างโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ขึ้นมามากมาย

มาดูตัวอย่างของโมเดลธุรกิจ Digital Disruption ที่ได้รับความนิยม เช่น

เปลี่ยนจากการซื้อขาดเป็นจ่ายรายเดือนแบบ Subscription

ปกติเรามักจะคุ้นชินกับการจ่ายเงินซื้อครั้งเดียวเพื่อถือสิทธิขาดในสินค้านั้นๆ แต่สินค้าบางประเภท เช่น ภาพยนตร์หรือเพลง ผู้บริโภคอาจรู้สึกว่ามีราคาค่อนข้างสูง ไม่คุ้มค่าหากซื้อมารับชมหรือฟังเพียงไม่กี่ครั้ง บางคนจึงไม่อยากจ่ายเงินซื้อสินค้าดังกล่าวถ้าหากมีทางเลือกที่ดีกว่า

จึงเกิดระบบ Subscription ที่ให้ผู้ใช้บริการเป็นสมาชิกแบบรายเดือนเพื่อใช้งานได้แบบไม่จำกัด เช่น Netflix, Apple Music, Spotify

แต่นอกจากสื่อบันเทิงเหล่านี้แล้ว ธุรกิจอุปโภคบริโภคก็เริ่มหันมาใช้โมเดลเหล่านี้ เช่น “Dollar Shave Club” ซึ่งทำ Business Model ที่แตกต่างและทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงสินค้าง่ายขึ้น ด้วยการให้บริการในรูปแบบ Subscription ในสหรัฐฯ โดยส่งสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์สำหรับโกนหนวด โฟมล้างหน้า และยาสีฟันทุกๆ 2 เดือนให้ลูกค้าที่ Subscribe ไว้

นอกจากนี้ ร้านอาหารชื่อดังอย่าง “KFC” ยังเริ่มใช้ระบบ Subscription ในบางประเทศ เพื่อรับไก่ทอดในแต่ละเดือนอีกด้วย

Freemium Model ที่จะเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานเมื่อจ่ายเงิน

Freemium เกิดจากการรวมกันระหว่าง Free และ Premium ที่ให้คุณใช้บริการได้ฟรีๆ แต่จะเริ่มเก็บเงินเมื่อคุณต้องการใช้ฟังก์ชันที่มากขึ้น อย่างเช่นบริการ Cloud Storage ต่างๆ อย่าง Google Drive, iCloud, Dropbox

จากตัวอย่างที่กล่าวไปข้างต้น แม้จะเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แต่ก็มีบางธุรกิจที่ล้มหายตายจากไปเพราะ Digital Disruption นี้เช่นเดียวกัน ได้แก่ สินค้าประเภท Thumb Drive ที่มีการใช้งานลดลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากมีบริการ Cloud Storage หรือธุรกิจร้านเช่าวีดีโอที่ทยอยปิดตัวตั้งแต่การมาของ Netflix

อย่าปล่อยให้กิจการของคุณต้องเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เลือนหายไป มาดู 5 วิธีคิดสำหรับผู้นำองค์กร และเจ้าของกิจการที่จะช่วยให้คุณสามารถก้าวทันยุค Digital Disruption และชี้นำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

Subscription Business Model

1. คำนึงถึงผู้บริโภคก่อนผลกำไร

พื้นฐานของการทำธุรกิจแน่นอนว่าต้องคำนึงถึงการสร้างรายได้เพื่อผลกำไร แต่การมองไปที่ผลกำไรเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถที่จะทำให้คุณอยู่รอดในยุค Digital Disruption นี้ได้

Disruptive Challenge (ผู้เข้าแข่งขันทางธุรกิจ) หลายธุรกิจเริ่มปรับมุมมองใหม่ หันมาให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากขึ้น โดยมองให้เห็นถึงความต้องการและสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

โดยเริ่มต้นจากการมองไปที่ความต้องการของลูกค้าหรือปัญหาของสังคม และเปลี่ยนมันเป็นโอกาสทางธุรกิจ โดยธุรกิจที่มองเห็นโอกาสเหล่านี้ก่อน จะสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เกิดขึ้นได้รวดเร็วกว่า และได้เปรียบในการแข่งขันนี้มากกว่า

ยกตัวอย่างกรณีของแอปพลิเคชัน “U Drink I Drive” ที่มองเห็นปัญหาของผู้ที่ไปดื่มสังสรรค์ยามค่ำคืน แต่กังวลว่าหากขับรถกลับบ้านเองก็อาจเกิดอันตรายจากการเมาแล้วขับได้ จึงเกิดเป็นแอปพลิเคชันที่แก้ไข pain point ดังกล่าว โดยมีบริการพนักงานขับรถที่เชี่ยวชาญในการนำส่งทั้งรถและผู้ใช้บริการถึงที่หมายอย่างปลอดภัย

การเข้าใจในผู้บริโภคมากขึ้น ก็เท่ากับว่าความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น วิสัยทัศน์ของผู้นำที่มองเห็นโอกาสเหล่านี้ได้ก่อน จะเป็นสิ่งที่จะชี้นำองค์กรของคุณให้ก้าวหน้าเหนือคู่แข่งอยู่เสมอ

2. ขับเคลื่อนความคิดด้วยตรรกะและเหตุผล

คุณสมบัติพื้นฐานของผู้นำที่ดี จะต้องไม่ยึดสัญชาตญาณหรืออารมณ์เป็นหลัก แต่ใช้ตรรกะและเหตุผลในการวิเคราะห์ผลลัพธ์

บ่อยครั้งที่ผู้นำจะต้องทำหน้าที่ในการตัดสินใจ หรือแก้ไขปัญหาต่างๆ คิดวิเคราะห์และประเมินสิ่งนั้นๆ ด้วยเหตุผล เพื่อให้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา แยกแยะและระบุถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละรูปแบบได้

วิธีนี้จะทำให้สามารถเชื่อมโยงภาพใหญ่ขององค์กรเข้าไว้ด้วยกัน มองเห็นคำตอบที่ดีที่สุดในทุกสถานการณ์ และเลือกนำมาใช้เพื่อไปสู่จุดหมายได้อย่างถูกต้อง

3. มองออกไปข้างหน้า เปลี่ยนตัวเองให้ก้าวนำโลก

ต้องเข้าใจและตระหนักรู้ว่า การแข่งขันทางธุรกิจในยุค Digital Disruption นั้นมีความท้าทายใหม่ๆ ให้คุณได้เผชิญอยู่เสมอ ความสำเร็จเดิมที่คุณเคยสร้างไว้ อาจไม่ใช่ทางออกเดิมที่จะทำให้คุณอยู่รอด เพราะฉะนั้นผู้นำที่ดีจะต้องหาคำตอบใหม่ๆ มาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

การมีบทบาทของ Social Media นั้นทำให้โลกขยับไปเร็วขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆ ถูกอัพเดทวันต่อวัน ผู้นำที่ดีต้องกล้าที่จะยอมรับและปรับตัว มีวิสัยทัศน์ที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะเปลี่ยนกลยุทธ์เดิมๆ และเปิดใจที่จะต้องเริ่มเรียนรู้และทดลองใช้กลยุทธ์ใหม่เสมอ

ในการพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืนได้ท่ามกลางโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา วิสัยทัศน์ของผู้นำที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง มองเห็นทางออกในการปรับตัวที่ถูกต้อง จะสามารถนำพาองค์กรให้ประสบผลสำเร็จและโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

4. พนักงานทุกคนคือส่วนสำคัญ

พนักงานขององค์กรเป็นเหมือนอีกหนึ่งตัววัดผลประสิทธิภาพกิจการของคุณ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าองค์กรจำเป็นจะต้องรับพนักงานใหม่ที่เก่งเข้ามาเพิ่ม แต่เป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรมีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันให้มีทักษะการทำงานที่ดีขึ้น

หากต้องการสนับสนุนให้บุคลากรได้พัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หรือก้าวทันเทคโนโลยี องค์กรจะต้องสร้างแรงกระตุ้น และแรงบันดาลใจให้กับพนักงาน เพื่อให้พวกเขาปรับเปลี่ยนแนวคิดและอยากพัฒนาตนเองให้พร้อมที่จะก้าวหน้าไปกับองค์กรในอนาคต

ไม่แน่ว่า ศักยภาพที่ถูกพัฒนาขึ้นของพนักงาน อาจจะกลายเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้องค์กรได้เห็นถึงมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่าง และกลายเป็นส่วนสำคัญที่จะพัฒนาให้องค์กรเติบโตยิ่งขึ้นในอนาคตก็เป็นได้

5. ความล้มเหลวคือกุญแจสู่ความสำเร็จ

ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเลือกหนทางที่ถูกต้องได้ในครั้งแรก ความล้มเหลวหรือความผิดพลาดที่ได้เผชิญนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่เป็นบทเรียนสำคัญที่จะสอนบางสิ่งบางอย่างเสมอ เพื่อทำให้คุณเข้มแข็งและก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจกว่าเดิม

ในโลกของการทำธุรกิจนั้น นอกจากจะต้องรู้ “จุดแข็ง” ของตัวเองแล้ว การมองเห็น “จุดอ่อน” ก็เป็นกุญแจที่จะนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กรได้เช่นกัน เพราะการที่องค์กรรู้ว่าจุดอ่อนของตัวเองคืออะไร จะทำให้มองเห็นหนทางในการปรับปรุงแก้ไขได้รวดเร็ว ตรงจุด มีประสิทธิภาพ และเสริมศักยภาพขององค์กรให้มากขึ้นอีกด้วย

Summary

Digital Disruption ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวหากรู้จักการปรับตัวและรับมือ โดยแนวคิดทั้ง 5 ที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น สามารถใช้เป็นแนวทางที่นำไปปรับใช้ภายในองค์กร เพื่อสร้างความได้เปรียบในการรับมือกับยุค Digital Disruption

Back