Blog

KNOWLEDGE

“Food Tech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก พลิกธุรกิจอาหาร

NOVEMBER 19, 2020

ปรากฎการณ์ Digital Disruption ที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนคลื่นซัดสาดใส่ทุกวงการ แม้แต่ธุรกิจที่ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอย่างธุรกิจอาหารก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากเรื่องนี้ ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและโจทย์ใหม่ๆ เช่น สังคมผู้สูงอายุ การดูแลสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความท้าท้ายอย่างมากกับวงการอาหาร การพัฒนา Food Tech เทคโนโลยีอาหาร จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่มาแก้ปัญหาในปัจจุบัน

Food Tech คืออะไร ทำไมจึงโดดเด่นในยุคนี้

Food Tech หรือ Food Technology คือ เทคโนโลยีที่ช่วยปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาคุณภาพของอาหาร ตั้งแต่กระบวนการสรรหาวัตถุดิบ ขนส่ง แปรรูป จนออกมาเป็นสารพัดเมนูบนโต๊ะอาหารให้ทุกๆ คนได้รับประทานกัน

บทบาทของ Food Tech นั้นมีมากมายในประวัติศาสตร์ ตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อผลิตอาหารกระป๋องในช่วงศตวรรษที่ 18 เพื่อความง่ายต่อการเก็บรักษาและการขนส่ง, การคิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้ผู้คนสามารถทานที่ไหนก็ได้ หรือที่ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้นการสร้าง Platform Amazon Fresh เป็นตัวกลางการซื้อขายอาหารด้วยระบบออนไลน์ เมื่อปี 2007 เป็นต้น

food-tech

โดยทาง Research and Market ได้คาดการณ์ว่ามูลค่า Food Tech ทั่วโลกจะสูงถึง 2.50 แสนล้านดอลลาร์ (7.79 ล้านล้านบาท) ในปี 2022 ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงความนิยมทั้งจากบริษัทใหญ่และ Startup ได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่ทำให้ Food Tech มีความโดดเด่นขึ้นมาในยุคนี้เห็นจะเป็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น

  • ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
  • การเข้ามาของสังคมผู้สูงอายุ
  • นิยมสั่งสินค้าแบบเดลิเวอรี่
  • ใส่ใจสินค้ารักษ์โลก
  • สนใจสินค้าที่มีเอกลักษณ์

จากตัวอย่างดังกล่าว ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยจึงต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีทางอาหารมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดีขึ้นและสามารถแข่งขันได้นั่นเอง

การปฏิวัติวงการด้วย Food Tech ที่พบเห็นได้ในปัจจุบัน

ดังที่บอกว่า Food Tech นั้นมีการพัฒนามาหลายยุคหลายสมัย จนเทคโนโลยีบางส่วนถูกหลอมรวมกับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารไปแล้ว แต่ก็ยังมีเทคโนโลยีอีกไม่น้อยที่ได้เข้ามามีบทบาทในการปฏิวัติวงการ Food Tech ในปัจจุบัน เช่น

1. Food Delivery Platform แพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร เช่น GrabFood, Line Man, Food Panda และ Gojek ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารต่างๆ ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องออกจากบ้าน

2. On-demand Food Discovery & Ordering แพลตฟอร์มค้นหาร้านอาหาร จองโต๊ะอาหาร และสั่งอาหาร เช่น Yelp และ Wongnai

3. Smart Kitchen Appliance เครื่องครัวอัจฉริยะ ที่มีส่วนช่วยให้การทำอาหารง่ายขึ้น เช่น หม้อทอดไร้น้ำมันที่มีการติดตั้งระบบ IoT สามารถสั่งการผ่านมือถือได้ จนถึงอุปกรณ์ที่มีส่วนช่วยในร้านอาหาร เช่น หุ่นยนต์ทำอาหารของ McDonald’s

4. Supply and Waste Management การจัดการ Supply Chain ในร้านอาหาร เช่น algorithm Eden จาก Walmart ที่ช่วยในการคำนวณความสดของสินค้าและช่วงเวลาจัดเก็บ เพื่อลดปริมาณอาหารเน่าเสียในร้าน

5. Meat Substitute เนื้อเทียมเข้ามามีบทบาทอย่างมากตามกระแสรักษ์โลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการเลี้ยงปศุสัตว์ โดยเนื้อเทียมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ Plant-based protein ที่ทำมาจากผักและถั่วเหลือง ซึ่งได้รสสัมผัสใกล้เคียงกับเนื้อจริง

food-tech

การพัฒนาของ Food Tech ต่ออุตสาหกรรมอาหารไทย

ไทยเป็นประเทศที่มีการผลิตอาหารคุณภาพสูง ส่งออกได้มาก แต่ยังพบปัญหาด้านการจัดการ การขนส่งและการควบคุมคุณภาพเพื่อให้ได้มาตรฐาน และนั่นคือสิ่งสำคัญที่ Food Technology เข้ามาแก้ปัญหา

โดยธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีอาหารที่มีความก้าวหน้าในประเทศไทยอย่างชัดเจนคือ Food Delivery ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ธุรกิจการส่งอาหารปี 2563 เติบโตมากกว่าปีก่อนหน้าถึง 150% และมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ คาดการณ์ว่ามีการใช้งานการจัดส่งอาหารทั้งหมดในปี 2564 ราว 66-68 ล้านครั้ง

นอกเหนือจาก Food Delivery แล้ว ยังมีการพัฒนาเกี่ยวกับอาหารเพื่อผู้สูงอายุ อาหารเพื่อสุขภาพ เนื้อเทียม การจัดการ Supply Chain ของร้านอาหาร รวมถึงการปั้นกรุงเทพให้กลายเป็น “Food Tech Silicon Valley แหล่งรวมของสตาร์ทอัพและการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีอาหาร” จากสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการลงทุน Food Tech ในประเทศไทยเองยังคงน้อยหากเทียบกับตลาดโลก อ้างอิงจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยไทยมีสัดส่วนสตาร์ทอัพ Food Tech เพียง 44 บริษัท คิดเป็น 0.43% จากทั้งโลก และเน้นไปในด้านการพัฒนาวัตถุดิบอาหารเสียส่วนใหญ่ ในขณะที่นานาชาตินั้นให้ความสำคัญกับอาหารในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ การใช้พลังงานสะอาดในการทำอาหาร และการพัฒนาด้าน Logistics ในการขนส่งอาหาร

โอกาสของประเทศไทยคือ เรายังมีช่องว่างอีกมากในการลงทุนด้าน Food Tech อีกทั้งไทยยังมีข้อได้เปรียบจากการเป็นประเทศเกษตรกรรมและมีชื่อเสียงด้านอาหารอยู่แล้ว จากความตั้งใจของเกษตรกร สตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความร่วมมือจากทางภาครัฐ ทำให้มั่นใจได้ว่าในอนาคต Food Tech ไทยจะมีอะไรน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

Summary

Food Tech นั้นเปรียบเสมือนการปฏิวัติทางอาหารในทุกยุคทุกสมัย และส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก โดยมีผู้บริโภคและเทคโนโลยีในสมัยนั้นๆ เป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันได้เน้นไปที่ระบบ Delivery การพัฒนาอาหารเพื่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนา Automation

ทว่าสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการลงทุน Food Tech ในไทย เป็นการลงทุนในวงจำกัด และยังไม่หลากหลายเพียงพอ ช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสสำคัญเพื่อสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเติมเต็มวงการ Food Tech ไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

การสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปสู่สังคมทุกระดับเพื่อเติมเต็ม Ecosystem ของ Food Tech อาจเป็นโจทย์สำคัญในการพัฒนาเรื่องนี้ให้ได้อย่างยั่งยืน

หากคุณเป็นสตาร์ทอัพที่มีไอเดียน่าสนใจและกำลังทำงานเพื่อพัฒนาวงการให้ดียิ่งขึ้น สามารถพูดคุยกับเรา Katalyst ได้ที่นี่ เพราะเราคือเพื่อนที่พร้อมพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพไทย ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อทำให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างก้าวไกลและยั่งยืน

อ้างอิง:

Back