Blog

KNOWLEDGE

HealthTech เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ จุดเปลี่ยนนวัตกรรมทางการแพทย์

NOVEMBER 10, 2020

HeathTech เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นหลังจากเกิดวิกฤติ Covid-19 ทั้งในด้านการลงทุนและการตอบสนองพฤติกรรมของผู้คนที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ส่งผลให้ HeathTech เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมการแพทย์

Healthtech for health

ทำความรู้จัก HealthTech สตาร์ทอัพสายสุขภาพ

HealthTech เป็นเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่พัฒนาขึ้นโดยคำนึงถึงผู้คนเป็นหลัก มีบทบาทเพื่อสนับสนุนความต้องการด้านการดูแลรักษาสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเป็นนวัตกรรมที่ต่อยอดจากพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ และยกระดับความก้าวหน้าของวงการแพทย์ทั่วโลก

ยกตัวอย่าง Touch Surgery สตาร์ทอัพสัญชาติอังกฤษที่ได้ทำการจำลองการผ่าตัด และนำเสนอออกมาในรูปแบบ AR Simulation เพื่อประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ ให้ได้ทำการฝึกวิเคราะห์ผ่านการผ่าตัดเสมือนจริง นอกจากนี้ยังลดปัญหาด้านการขาดแคลน Resource ในการสอนอีกด้วย

ไม่เพียงแค่พัฒนาในด้านการรักษาโรคเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวันของผู้คนให้เข้าถึงความรู้ด้านสุขภาพ ตัวอย่างเช่น Babylon Health สตาร์ทอัพจากอังกฤษ เป็นแอปพลิเคชันที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานนัดพบหรือขอคำปรึกษาจากแพทย์ได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยใช้ระบบ AI ในการจับคู่แพทย์กับผู้ป่วย เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์สนับสนุนต่างๆ เช่น AI Chatbot ที่สามารถตอบคำถามทางการแพทย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และการสั่งซื้อยาโดยส่งใบสั่งยาจากแพทย์ไปยังร้านขายยาใกล้ๆ ผ่านแอปพลิเคชันได้สะดวกยิ่งขึ้น

นับเป็นตัวอย่างของสตาร์ทอัพ HealthTech ที่สามารถเข้าถึงชีวิตประจำวัน และเชื่อมต่อระหว่างผู้คนและผู้ให้บริการด้านสุขภาพได้เป็นอย่างดี

Healthtech for health

ตัวอย่าง HealthTech ที่น่าจับตามองจากทั่วโลก

มาดูกันว่าในปัจจุบันสตาร์ทอัพด้าน HealthTech จากทั่วโลกที่กำลังเป็นที่สนใจและสามารถสร้างจุดเปลี่ยนให้กับวงการสุขภาพได้ มีอะไรบ้าง

  • MedicPad

    Healthtech for health

    Image Source: MedicPad

    MedicPad HealthTech จากโรมาเนีย เป็น Platform สำหรับแพทย์ที่แชร์ข้อมูลของผู้ป่วยผ่าน Cloud Storage ทางแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน โดยที่สามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลสำคัญต่างๆ ของผู้ป่วยจะไม่รั่วไหลออกไป

    โดยข้อมูลที่แชร์นั้นจะประกอบไปด้วยประวัติส่วนตัว ประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว ประวัติการรับยาและการเข้ารักษาต่างๆ เพื่อให้ทีมแพทย์สามารถทำการวินิจฉัยและทำการรักษา หรือวิเคราะห์แนวทางรักษาได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    ด้วยการแชร์ข้อมูลผู้ป่วยระหว่างทีมแพทย์แต่ละแห่ง จึงช่วยทำให้ประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งในสตาร์ทอัพที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

  • Novamab Healthtech for health

    Image Source: Bioworld

    Novamab เป็น HealthTech สัญชาติจีน ที่พัฒนาเทคโนโลยีชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) โดยนำแนวคิดของนาโนบอดี้มาใช้ในการพัฒนาตัวยา (Nanobody-Based Drugs) ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีก

    Novamab ได้ทำการสร้างศูนย์วิจัยเพื่อทำการค้นหาความเป็นไปได้ที่จะนำเทคโนโลยีนาโนบอดี้มาใช้พัฒนาประสิทธิภาพของตัวยา และเภสัชกรรมปัจจุบันของโลก อีกทั้งยังมีจุดประสงค์ที่ต้องการให้วงการแพทย์ทั่วโลกได้เข้าใจถึงความสำคัญของเทคโนโลยีนาโนบอดี้อีกด้วย

    หากผลลัพท์ที่ออกมาเป็นไปตามที่ Novamab ได้คาดการณ์เอาไว้ ไม่เพียงแต่ตัวยาจะมีประสิทธิภาพที่ดีมากขึ้นเท่านั้น แต่หมายความว่าผลลัพท์ในการรักษาโรคก็มีโอกาสสำเร็จที่สูงยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

  • Andiamo Healthtech for health

    Image Source: OnceDaily

    Andiamo คือ HealthTech จากอังกฤษ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากสามี-ภรรยา จากครอบครัว Parvez ได้สูญเสียลูกชายไปด้วยโรคสมองพิการ จึงจุดประกายให้เกิดเป็นสตาร์ทอัพที่ต้องการช่วยเหลือเด็กๆ ที่มีความผิดปกติทางร่างกายด้วย 3D Printer เพื่อใช้ในการสร้างอวัยวะเทียมทดแทนส่วนที่ขาดหาย พิการ หรือมีปัญหาในการใช้ชีวิต

    ซึ่งเป็นไอเดียที่จะช่วยสร้างอนาคตให้กับเด็กๆ ทั่วโลกที่มีความผิดปกติทางร่างกาย ให้สามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงเด็กปกติมากที่สุด ด้วยไอเดียเปลี่ยนโลกนี้จึงทำให้ได้รับเงินสนับสนุนจาก Sir Richard Branson CEO แห่ง Virgin Group และสามารถเข้าร่วมกับ NHS (บริการสาธารณสุขแห่งสหราชอาณาจักร) ได้

ความสนใจของนักลงทุนที่มีต่อ HealthTech

ปัจจุบัน HealthTech กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก อ้างอิงข้อมูลจาก Statista ในช่วงปี 2015-2017 HealthTech มีมูลค่าการลงทุนต่อเนื่องมากถึง 20% ต่อปี และยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2020 หลังจากที่เกิดวิกฤติ Covid-19 ทาง Medcitynews เผยว่า บริษัทด้าน HealthTech หลายแห่งเปิดเสนอขายหุ้นสู่สาธารณะ (IPO) ซึ่งแต่ละบริษัทได้รับการลงทุนไม่ต่ำกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ อาทิ

  • GoHeath บริษัทประกันภัยออนไลน์ ปิด IPO ด้วยมูลค่าซื้อขาย 916 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • Amwell บริษัทให้บริการทางการแพทย์ผ่านระบบโทรคมนาคม (Teleheath) ปิด IPO ด้วยมูลค่าซื้อขาย 742 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • Schrodinger บริษัทซอฟต์แวร์ด้านยารักษาโรค ปิด IPO ด้วยมูลค่าซื้อขาย 232 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดย HealthTech ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนในยุคปัจจุบันได้แก่ นวัตกรรมสุขภาพไร้สาย (Wireless Health) และอุปกรณ์ติดตามดูแลสุขภาพผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ (Mobile Health) ที่สามารถพกพาได้ง่าย เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch), สมาร์ทโฟน (Smart Phone) ซึ่งหากนับเฉพาะตลาด Mobile Health จากช่วงปีที่ผ่านมามีความเติบโตพุ่งสูงถึง 42% ต่อปีเลยทีเดียว

  • Wireless Health นวัตกรรมด้านสุขภาพแบบไร้สาย ตัวอย่างเช่น การติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสัญญาณชีพ (Vital Signal) ไว้ที่ร่างกายของผู้ป่วย เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นก็จะทำการส่งสัญญาณไปยังแพทย์ผู้ดูแล เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือได้ในทันที ซึ่งจะช่วยให้การบริหารบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถเก็บบันทึกสถิติเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการรักษาได้อีกด้วย
  • Mobile Health อุปกรณ์สุขภาพเคลื่อนที่ จากที่เมื่อก่อนจะทำได้เพียงการบันทึกข้อมูลสุขภาพ เช่น การวัดระดับชีพจร หรือการเคลื่อนไหวขณะออกกำลังกาย แต่ในปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านี้ได้ถูกพัฒนาจนสามารถนำไปใช้ด้านสาธารณสุข เช่น การส่งข้อมูลสุขภาพให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อรักษาได้ทุกที่ทุกเวลา เช่น ข้อมูลระดับน้ำตาลในเลือด ระดับออกซิเจน รวมถึงติดตามการนอนหลับของผู้สวมใส่ได้ ทำให้การดูแลสุขภาพกลายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและจับต้องได้ง่ายขึ้น
Healthtech for health

HealthTech กับความสำคัญต่อประเทศไทยในอนาคต

จากการคาดการณ์โดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี 2021 ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรที่เป็นผู้สูงอายุมากถึง 13 ล้านคน คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า การดูแลสุขภาพกำลังจะกลายเป็นเทรนด์หลักของคนไทย ซึ่งสตาร์ทอัพจำนวนไม่น้อยที่เล็งเห็นถึงโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นการเข้ามาของ HealthTech จะมีบทบาทมากขึ้นอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น

  • Health at Home Platform ที่มุ่งเน้นไปยังการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยในบ้านโดยเฉพาะ ด้วยบริการ Nursing Home ส่งตรงถึงบ้าน ช่วยจัดการพฤติกรรมของผู้ป่วยให้เป็นไปตามตาราง หรือตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด รวมถึงมีบริการรับ-ส่งผู้ป่วยจากโรงพยาบาล ทำให้ลูกหลานสามารถวางใจได้ ซึ่งนับว่าตอบโจทย์ต่อการเข้าสู่สังคมสังคมผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ค่อยมีเวลาในการดูแลผู้ป่วยหรือญาติผู้ใหญ่ เช่น ผู้ที่ต้องออกไปทำงานประจำ เป็นต้น

นอกจากนี้ ด้วยการเข้าถึงของสมาร์ทโฟนยังช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพได้อย่างถูกต้องและสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

  • PobPad (พบแพทย์) Platform ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลด้านสุขภาพที่ดีและน่าเชื่อถือสำหรับผู้ที่อยากรู้ข้อมูลด้านสุขภาพผ่านบทความที่มีประโยชน์ และต้องการปรึกษาปัญหาสุขภาพ โดยสามารถสอบถามข้อมูลที่สงสัยกับบุคลากรทางการแพทย์โดยตรงผ่าน Smart Phone ทำให้ช่วยคลายข้อสงสัยต่างๆ ให้กับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีคำถามได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ผู้คนเข้าใจและเข้าถึงการดูแลสุขภาพเบื้องต้นอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทที่ขาดแคลนบุคลากรที่คอยให้คำแนะนำด้านการแพทย์

นอกจากนี้จากวิกฤติ Covid-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของคนในสังคมเริ่มเปลี่ยนไป การรักษาแบบ Teleheath (การรักษาทางไกลผ่านระบบดิจิทัล) จึงมีแนวโน้มที่เติบโตมากยิ่งขึ้น โดยในไทยมี Startup หลายรายที่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาทิ

  • OOCA แอปพลิเคชันให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตผ่านวิดีโอคอล ผู้ใช้งานสามารถปรึกษาจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้โดยไม่ต้องเดินทาง
  • Diamate แอปพลิเคชันดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่บ้านร่วมกับการรักษาที่พยาบาล แอปฯ ดังกล่าวช่วยให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว เก็บสถิติการทานอาหาร รวมถึงติดตามระดับน้ำตาลแบบเรียลไทม์ พร้อมระบบแจ้งเตือนเมื่อเกิดความผิดปกติ
  • ใกล้มือหมอ แอปพลิเคชันวินิจฉัยโรคเบื้องต้น ผู้ใช้งานสามารถคัดกรองโรคเบื้องต้น และรับคำแนะนำจากแพทย์ผ่านคลิปวิดีโอ รวมถึงสามารถจดบันทึกอาการเพื่อติดตามผลย้อนหลังได้อีกด้วย

Summary

HeathTech ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้นหลังจากการเกิดวิกฤติ Covid-19 อุตสาหกรรมทางการแพทย์ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของพฤติกรรมของคนและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ผลจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความสนใจจากนักลงทุน ส่งผลให้ธุรกิจด้านสุขภาพอาจต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาใช้เป็นตัวช่วยในการพัฒนาสินค้าและบริการ เช่น เทคโนโลยี AI หรือ Big Data เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน

สุดท้ายนี้การพัฒนาสินค้าและบริการของสตาร์ทอัพสาย HealthTech มิใช่แค่เพียงมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันเท่านั้น แต่การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาทางสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างตรงจุด และช่วยให้สุขภาพของคนในสังคมดีขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยหากทำได้เช่นนี้แล้วการหานักลงทุนก็คงไม่ใช่เรื่องไกลตัว และธุรกิจก็จะเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

Back