Blog

Lean-Canvas-cover

KNOWLEDGE

ทางลัดของเหล่า Startup! ร่างโมเดลธุรกิจง่าย ๆ ด้วย Lean Canvas

OCTOBER 27, 2021

การร่างโมเดลธุรกิจอาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน แต่ถ้าคุณรู้จัก Lean Canvas คุณสามารถร่างโมเดลธุรกิจให้เสร็จได้ภายในครึ่งวัน และยังเล่าให้คนฟังเข้าใจได้ภายในไม่กี่นาที แถมยังพกพาไปได้ทุกที่ อยากเล่าเมื่อไรก็เล่าได้ เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับ Startup เลยทีเดียว

อยากรู้ว่า Lean Canvas คืออะไร ต่างจาก Business Model Canvas อย่างไร ทำไมถึงเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับ Startup และวิธีทำ Lean Canvas เป็นอย่างไร ไปดูกัน

Lean Canvas คืออะไร

Lean Canvas คือ เทมเพลต 9 ช่องสำหรับร่างโมเดลธุรกิจที่สามารถเห็นภาพรวมได้ใน 1 แผ่น ถูกใช้มากกว่า 1 ล้านคนโดยกลุ่ม Startup มหาวิทยาลัยและองค์กรขนาดใหญ่ มีตั้งแต่การระบุปัญหา กลุ่มเป้าหมาย จุดเด่นของธุรกิจ วิธีการแก้ปัญหา และอื่น ๆ

Lean Canvas ต่างจาก Business Model Canvas อย่างไร

  • Lean Canvas: ธุรกิจใหม่ที่ยังไม่ชัดเจนทั้งเรื่องปัญหา ความต้องการของลูกค้า และอื่น ๆ
  • Business Model Canvas: มักใช้กับธุรกิจที่เริ่มมาสักพักและรับรู้ถึงปัญหากับความต้องการของลูกค้าแล้ว แต่ทำเพื่อให้เข้าใจภาพรวมของการวางกลยุทธ์ จึงไม่เหมาะกับธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้น

ความเป็นจริงแล้ว Lean Canvas ดัดแปลงมาจาก Business Model Canvas ของ ‘Alex Osterwalder’ ซึ่งประกอบไปด้วย

Business Model Canvas

  • Key Partners
  • Key Activities
  • Key Resources
  • Value Proposition
  • Customer Relationships
  • Channels
  • Customer Segments
  • Cost Structure
  • Revenue Streams

Lean Canvas

Lean Canvas มีทุกอย่างที่เป็นส่วนประกอบของ Business Model Canvas แต่มีการปรับเปลี่ยน 4 หัวข้อเพื่อให้ตอบโจทย์ธุรกิจหน้าใหม่มากขึ้น ดังนี้

  • Key Partners → Problems
  • Key Activities → Solutions
  • Key Resources → Metrics
  • Customer Relationships → Unfair Advantage
  • Unique Value Proposition
  • Channels
  • Customer Segments
  • Cost Structure
  • Revenue Streams

H5LeanCanvas

ทำไม Lean Canvas ถึงเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับ Startup

1. รวดเร็ว

เพราะ Lean Canvas ออกแบบมาให้เราร่างโมเดลธุรกิจเพียง 1 หน้ากระดาษเท่านั้น จากที่เคยใช้เวลาร่างแผนธุรกิจหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน Lean Canvas อาจใช้เวลาแค่ครึ่งวันในการเขียนออกมา

2. กระชับ

Lean Canvas บังคับให้เราต้องกลั่นกรองแต่สาระสำคัญ จึงกระชับและมีแต่เนื้อเต็ม ๆ ซึ่งง่ายต่อการแชร์ให้ผู้อื่นฟัง นอกจากนี้ ยังได้เปรียบในการดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนในระยะเวลาอันสั้นหรือที่เราเรียกว่า Elevator Pitch นั่นเอง

3. อัปเดตง่าย

หากต้องการปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างใน Lean Canvas ก็สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว ไม่ต้องแก้หลายส่วนให้เสียเวลาเพราะทุกอย่างจบในหน้าเดียว ทั้งยังสะดวกในการพกพา อยู่ที่ไหนก็จัดการได้

วิธีสร้าง Lean Canvas สำหรับธุรกิจ Startup

Lean Canvas แบ่งออกเป็น 9 ช่อง โดยสิ่งที่เราต้องเขียนในแต่ละช่อง มีดังนี้

1. Customer Segments: กลุ่มลูกค้าเป็นใคร

ในส่วนแรกเราต้องระบุว่ากลุ่มลูกค้าของเราเป็นใคร ถ้าจะให้ดีแนะนำว่าอย่าโฟกัสแค่กลุ่มลูกค้าปลายทางเพียงอย่างเดียว แต่ให้นึกถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น หากเป็นแพลตฟอร์มขายบ้าน ลูกค้าของเราอาจจะไม่ได้มีแค่ผู้เช่าและผู้ซื้ออย่างเดียว แต่อาจจะมีเจ้าของบ้านหรือตัวแทนด้วยก็ได้ เป็นต้น

*หากมีลูกค้ามากกว่า 1 กลุ่ม อาจจะต้องสร้าง Lean Canvas แต่ละกลุ่มขึ้นมาใหม่

2. Problem: พวกเขาเจอปัญหาอะไร

แนะนำให้ลิสต์มา 3 อันดับแรกที่เราจะแก้ไข และเพื่อให้ง่ายต่อการลิสต์ปัญหา ลองนึกถึงสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องเผชิญในชีวิตประจำวันว่ามีอะไรบ้าง ทั้งนี้ ตลาดที่แตกต่างกัน ปัญหาจะแตกต่างกันไปด้วย

3. Unique Value Proposition: มีจุดเด่นอะไรที่ลูกค้าต้องเลือกเรา

ในส่วนนี้ให้ลิสต์ว่าเรามีอะไรที่แตกต่างและไม่ซ้ำจำเจกับเจ้าอื่นบ้าง โดยพยายามดึงจุดแข็งที่เป็นเหตุผลว่าทำไมลูกค้าถึงต้องเลือกเรา

4. Solution: วิธีการแก้ปัญหาเป็นอย่างไร

เมื่อเรามีปัญหาแล้ว แน่นอนว่าต้องมีวิธีแก้ ซึ่งการทำ Lean Canvas ในส่วนนี้เราอาจจะระดมสมองกับทีมเพื่อลิสต์วิธีการที่เป็นไปได้มากที่สุดออกมา

ตัวอย่าง

  • Problem: ไม่สามารถเดินทางไปเซ็นเอกสารได้เนื่องจากอยู่ไกล
  • Solution: สร้าง eSign ให้ผู้ใช้เซ็นเอกสารออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา

5. Channels: จะเข้าถึงลูกค้าได้อย่างไร

ในที่นี้ไม่ใช่แค่รูปแบบการส่งสินค้า/บริการให้ถึงมือผู้รับอย่างเดียว แต่รวมถึงช่องทางการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายด้วย ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายช่องทาง เช่น

  • โซเชียลมีเดีย
  • โฆษณาทางทีวี/ วิทยุ
  • สื่อสิ่งพิมพ์ (ใบปลิว, โปสเตอร์, หนังสือพิมพ์ ฯลฯ)
  • ช่องทางส่วนตัว (โทรศัพท์, อีเมล, จดหมาย ฯลฯ)
  • การจัดอีเวนต์
  • การทำคอนเทนต์ (Website, Blog, Infographic, Guest Posts, Video)
  • Search Engine Platform (Google Ads, Google My Business)

6. Revenue Streams: รายได้มาจากช่องทางใดบ้าง

ในส่วนนี้จะระบุแหล่งรายได้ว่ามาจากรูปแบบไหนบ้างโดยเริ่มต้นจากการกำหนดราคาก่อน ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมคิดถึงรูปแบบรายได้ประจำของเราว่าจะมาจากอะไร ทางที่ดีควรประมาณรายรับต่อเดือนและระยะเวลาในการคืนทุนด้วยเพื่อประเมินความมั่นคงของธุรกิจ

7. Cost Structure: ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายมาจากอะไรบ้าง

ระบุต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายประจำทั้งหมด อย่าลืมว่าในระหว่างที่ธุรกิจกำลังดำเนินการอาจมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาซึ่งเราอาจคิดเผื่อไว้เลยก็ได้

8. Key Metrics: ตัวชี้วัดที่ใช้วัดความสำเร็จมีอะไรบ้าง

ประเภทธุรกิจที่แตกต่างกัน ค่า Metrics ที่ใช้วัดผลย่อมแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น ควรเลือกให้ตรงกับรูปแบบธุรกิจของตัวเอง

ตัวอย่าง

  • Conversion Rate: คนเข้ามาที่เว็บไซต์ 1,000 คน มีคนซื้อสินค้า 200 คน CVR = 20%
  • Bounce Rate: เปอร์เซ็นต์ที่เข้ามายังเว็บไซต์หน้าแรกแล้วกดออกไป
  • Users Acquisition: จำนวนคนดาวน์โหลดแอปฯ หรือผู้ใช้ที่ลงทะเบียน

9. Unfair Advantage: สิ่งที่เราได้เปรียบกว่าคู่แข่ง

สำหรับ Lean Canvas ที่ออกแบบมาเพื่อ Startup ใหม่ อาจต้องลิสต์ไอเดียว่าเราจะทำอะไรที่คิดว่าคู่แข่งไม่สามารถทำได้ เช่น เทคโนโลยีเสถียรและแม่นยำกว่า ระบบการขนส่งรวดเร็วกว่า 2 เท่า หรือ UX/UI ดูดี ใช้งานง่าย เป็นต้น

ตัวอย่าง Lean Canvas

1. Google

5LeanCanvasExamples-Google-883x1024

2. YouTube

5LeanCanvasExamples-Youtube-883x1024

3. Amazon

5LeanCanvasExamples-Amazon-883x1024

4. Facebook

5LeanCanvasExamples-Facebook-883x1024

5. Airbnb

5LeanCanvasExamples-AirBB-883x1024

ขอบคุณแหล่งข้อมูลและที่มาของรูปภาพจาก railsware

Summary

Lean Canvas ถือเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับ Startup ที่จะช่วยให้เราร่างโมเดลธุรกิจได้ใน 1 แผ่น ซึ่งมีข้อดี คือ รวดเร็ว กระชับ และอัปเดตง่าย จึงช่วยให้ผู้ฟังเห็นภาพและความเป็นไปได้ของธุรกิจเพียงแค่ไม่กี่นาที ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนคุณก็จะสามารถเล่าแผนธุรกิจของคุณได้ ถึงแม้ Lean Canvas จะกระชับฉับไว แต่ศิลปะการเล่าเรื่องก็ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะช่วยตัดสินว่า “ธุรกิจของคุณน่าสนใจหรือไม่”

ทดลองใช้เทมเพลตออกแบบ Lean Canvas ของคุณได้ที่ infolio.co

อ้างอิง:

Back