Blog

KTL-Article32-NFT-cover.png

KNOWLEDGE

จับตามองเทรนด์ NFT (Non-Fungible Token) คืออะไร? ใครควรลงทุน?

SEPTEMBER 28, 2021

NFT (Non-Fungible Token) กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างมากในปี 2020 และยิ่งได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอีกในปี 2021 จากปรากฏการณ์การซื้อขาย NFT ที่มีมูลค่าสูงถึงหลักล้านเหรียญสหรัฐ

จากข้อมูลของ Cloudward พบว่าในปี 2020 ยอดขาย NFT ทั้งหมดอยู่ที่ 250 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาสแรกของปี 2021 กลับมียอดขายพุ่งสูงขึ้นเป็นมูลค่ารวมกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในปัจจุบันตลาด NFT ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนสามารถดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม Raghavendra Rau ศาสตราจารย์ด้านการเงินที่ Cambridge Judge Business School ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ NFT ผ่านทาง BBC Indonesia ว่า “ความสนใจใน NFT ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้อาจเป็นผลมาจากการที่ผู้คนไม่มี "ความสนุกเพียงพอ" ที่จะใช้จ่ายเงินในช่วงการระบาดครั้งใหญ่”

นอกจากนี้ เขายังคิดว่าเทรนด์นี้จะไม่คงอยู่ตลอดไป “เราเคยเห็นกระแสแบบนี้มาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่น การเกิดภาวะฟองสบู่และราคาที่ไม่ได้สัมพันธ์กับปัจจัยพื้นฐาน คุณอาจทำเงินได้มาก แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ ในเมื่อคุณก็อาจสูญเสียเงินมหาศาลได้เช่นกัน”

ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจและเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นอีกมากมายที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแส NFT บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับ NFT (Non-Fungible Token) สินทรัพย์ดิจิทัลคลื่นลูกใหม่ที่กำลังปฏิวัติวงการศิลปะทั่วโลก เรามาดูกันว่าสินทรัพย์ดิจิทัลตัวนี้จะมีแนวโน้มเติบโตน่าลงทุนแค่ไหน? หรือจะเป็นเพียงแค่กระแสเท่านั้น?

non-fungible-token/non-fungible-token-img-1

NFT คืออะไร

NFT (Non-Fungible token) หรือ เหรียญที่ไม่สามารถทดแทนได้ คือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่ซ้ำใคร จับต้องไม่ได้แต่สามารถซื้อขายได้เหมือนทรัพย์สินอื่นๆ ผ่านเทคโนโลยี Blockchain ที่สามารถจัดเก็บคุณสมบัติและข้อมูลที่เป็นอัตลักษณ์ของเหรียญดิจิทัลประเภทนี้ได้

NFT จึงเปรียบเสมือนหลักฐานยืนยันความเป็นต้นฉบับและความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น โดยสามารถตรวจสอบกรรมสิทธิ์และความถูกต้องของข้อมูลผ่านระบบ Blockchain ที่จะบันทึกธุรกรรมที่เกิดขึ้นไว้ทุกครั้ง โดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูล คัดลอก หรือทำซ้ำได้

เนื่องจาก NFT เป็นเหรียญดิจิทัลที่มีมูลค่าเฉพาะตัวหนึ่งเดียวในโลก จึงไม่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้เหมือนสกุลเงินทั่วไป (Fiat Currency) หรือสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เช่น Bitcoin, Dogecoin, Ethereum อย่างไรก็ตาม เราสามารถซื้อ NFT ได้ด้วยสกุลเงินดิจิทัลผ่านระบบ Blockchain ซึ่งในปัจจุบัน Ethereum Blockchain ถือเป็นแพลตฟอร์ม NFT ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด

ตัวอย่างการใช้ประโยชน์จาก NFT ในแวดวงศิลปะ

ศิลปินสามารถสร้าง NFT หรือคริปโตอาร์ต (Cryptoart) โดยใช้แพลตฟอร์ม เช่น OpenSea หรือ Mintable เพื่อสร้างและอัปโหลดไฟล์ดิจิทัล รวมทั้งทำสัญญาที่เกี่ยวข้องซึ่งจะมีระบุไว้ในแพลตฟอร์มเหล่านี้ และสามารถเข้าถึงได้โดยผู้ซื้อที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจำเป็นต้องมีบัญชีและกระเป๋าเงินดิจิทัลสำหรับ Ethereum เพื่อใช้ในการจัดเก็บและซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างกัน

NFT สามารถอยู่ในรูปแบบดิจิทัลได้ทุกประเภท เช่น GIF, JPEG, MP3 จึงเป็นไปได้ตั้งแต่ผลงานศิลปะ คอลัมน์ที่ตีพิมพ์ คลิปไฮไลท์กีฬา ภาพถ่ายคนดัง หรือแม้แต่มีมที่เป็นไวรัล ตัวอย่างผลงานที่โด่งดังและมีมูลค่าสูงติดอันดับโลก อาทิ

  • Christie's Auction House เปิดประมูลขายผลงานศิลปะภาพคอลลาจ Everydays: The First 5,000 Days ของศิลปิน Beeple จบลงที่ราคาสูงถึง 69.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • Jack Dosey ซีอีโอของ Twitter เปิดประมูลทวีตแรกของเขาที่มีข้อความสั้นๆ ว่า just setting up my twttr ในรูปแบบ NFT จบลงที่ราคา 1,630 ether หรือประมาณ 2.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • "Disaster Girl" ภาพเด็กผู้หญิงที่มีฉากหลังเป็นเหตุการณ์ซ้อมดับไฟไหม้ ซึ่งกลายเป็นมีมสุดโด่งดังบนโลกออนไลน์ ถูกนำมาขายในรูปแบบ NFT ได้ราคาถึง 500,000 ดอลลาร์

non-fungible-token/non-fungible-token-img-2

ทำไม NFT ถึงได้รับความนิยม

ปัจจุบัน เริ่มมีผู้คนในวงการอื่นๆ หันมามองหาวิธีใช้ประโยชน์จาก NFT ในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เนื่องจากศิลปะดิจิทัลบางชิ้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำเงินมหาศาลให้กับศิลปินได้อย่างน่าเหลือเชื่อ อีกทั้งยังมีศิลปินหลายคนที่สามารถแจ้งเกิดและลืมตาอ้าปากได้จากการขาย NFT แค่ภาพเดียว

จะเห็นได้ว่าจุดแข็งที่ชัดเจนของ NFT คือ ศักยภาพและประสิทธิภาพของเทคโนโลยีในการแปลงสินทรัพย์ทางกายภาพให้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินการซื้อขายโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง ทำให้ศิลปินและนักสร้างสรรค์ทุกรูปแบบสามารถขายผลงานของตนเองได้ในวงกว้าง ในขณะเดียวกัน นักสะสมก็สามารถเข้าถึงผลงานศิลปะทั่วโลก โดยที่ทั้งสองฝ่ายสามารถเชื่อมต่อกันได้โดยตรง

นอกจากนี้ NFT ยังได้นำไปสู่การสร้างแพลตฟอร์มตลาดกลาง เช่น OpenSea, Rarible, Mintable ที่ทำให้ศิลปินได้ใช้ประโยชน์จากการสร้างผลงานและประมูลขายงานศิลปะดิจิทัล ซึ่งอาจเป็นโอกาสทองในการทำเงินก้อนใหญ่ เหมือนที่เราได้เห็นตามข่าวอยู่เรื่อยๆ ว่ามีนักสะสมและนักลงทุนบางรายยอมทุ่มเงินประมูลหลายล้านเหรียญสหรัฐเพื่อแลกกับการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใน NFT ที่จับต้องไม่ได้

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนสามารถนำ NFT ที่ซื้อเพื่อเก็งกำไรมาประมูลขายต่อได้และโอนกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของต่อให้กับอีกคนหนึ่งได้ ในขณะที่ศิลปินก็ยังคงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพที่เกี่ยวข้องกับเหรียญ NFT นั้นอยู่ จึงมีสิทธิ์ได้รับค่าลิขสิทธิ์ในทุกครั้งที่มีการขายเหรียญนั้นต่อให้กับคนอื่นด้วย

ด้วยจุดเด่นและข้อดีที่แต่ละฝ่ายมีโอกาสได้รับ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตลาด NFT จะเริ่มเป็นที่นิยมและได้รับความสนใจจากทั้งกลุ่มศิลปิน นักสะสม นักลงทุน และคนดังในวงการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

non-fungible-token/non-fungible-token-img-3

ใครควรลงทุนและสิ่งที่ควรรู้ก่อนลงทุน NFT

กลุ่มคนที่เข้ามาลงทุนในตลาด NFT แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ นักสะสมและนักลงทุน

สำหรับนักสะสม แรงจูงในการซื้อ NFT ส่วนใหญ่มักมาจากความชอบและความพึงพอใจส่วนตัวที่มีต่อศิลปินหรือผลงานนั้นๆ จนอยากได้ชื่อว่าเป็นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นเพียงคนเดียวในโลก รวมทั้งบางคนมีความต้องการสนับสนุนศิลปินและวงการศิลปะให้เติบโตและยังคงอยู่ท่ามกลางยุคสมัยของเทคโนโลยี

สำหรับนักลงทุนทั่วไป NFT ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงและมีการเก็งกำไรค่อนข้างสูง เพราะไม่ได้อิงมูลค่าตามประโยชน์ใช้สอย แต่อิงตามการให้คุณค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นๆ มูลค่าของ NFT จึงอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของตลาด เงื่อนไข หรือความชอบส่วนบุคคล

ดังนั้น หากคุณกำลังพิจารณาซื้อ NFT ในฐานะนักลงทุน ไม่ใช่นักสะสม ควรเริ่มต้นศึกษาหาข้อมูลให้รอบคอบไม่ต่างกับการลงทุนประเภทอื่นๆ เช่น

  • พิจารณาชื่อเสียงของผู้สร้าง NFT ว่ามีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการขายต่อในอนาคตได้หรือไม่ เนื่องจากชื่อเสียงของผู้สร้าง ความหายากของผลงาน หรือประวัติความเป็นมาที่ยาวนานล้วนส่งผลต่อราคาประมูลและความต้องการของตลาดแทบทั้งสิ้น
  • ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของให้ดีว่ามีขอบเขตแค่ไหน เพราะ NFT บางเหรียญอนุญาตให้นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ แต่บางเหรียญอาจให้แค่สิทธิ์ในการครอบครอง ไม่ครอบคลุมการใช้ประโยชน์ทางการค้า
  • แพลตฟอร์ม NFT ส่วนใหญ่ใช้สกุลเงินดิจิทัลเพื่อแลกเปลี่ยน NFT จึงมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของมูลค่าสกุลเงินดิจิทัลที่คุณต้องยอมรับให้ได้ นอกเหนือจากความเสี่ยงที่ NFT นั้นจะสูญเสียมูลค่าทั้งหมดเมื่อเกิดภาวะฟองสบู่แตก

Summary

Non-Fungible Token (NFT) ถือเป็นการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างสินทรัพย์ในโลกทางกายภาพและโลกดิจิทัลเริ่มมีความไม่ชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นผู้นำการปฏิวัติด้วยการนำเอาโลกศิลปะกับโลกธุรกิจมาเชื่อมต่อกันได้อย่างไร้ขอบเขตผ่านการใช้ระบบ Blockchain ที่สามารถตัดคนกลางและเพิ่มโอกาสในการซื้อขายสินค้าที่หายากหรือมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก ทำให้ศิลปินมีโอกาสได้รับผลตอบแทนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น นักสะสมสามารถเข้าถึงและครอบครอง NFT ที่ตนเองชื่นชอบได้จากทั่วโลก ส่วนนักลงทุนก็สามารถเลือกซื้อ NFT ที่มีศักยภาพเพื่อเก็งกำไรจากการขายต่อในอนาคตได้

แม้ว่าโอกาสและแนวโน้มการพัฒนาของ NFT ในอนาคตจะดูน่าตื่นเต้น แต่นักลงทุนควรตระหนักไว้เสมอว่าการลงทุนใน NFT มีความเสี่ยงและควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ หากยังไม่แน่ใจในสถานการณ์ความผันผวนของมูลค่า NFT ว่าเป็นเพียงกระแสชั่วคราวหรือเป็นภาวะฟองสบู่ที่ใกล้จะแตกหรือไม่ ให้รออีกสักพักจนกว่าจะเห็นว่าตลาดนั้นเริ่มเติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ

เพราะปัจจุบันยังไม่มีใครยืนยันได้ว่า NFT จะสามารถพัฒนาไปสู่ตลาดที่มีมูลค่ามากกว่าล้านล้านเหรียญเช่นเดียวกับสกุลเงินดิจิทัลแบบดั้งเดิมได้หรือไม่ คงมีแค่เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่อย่างน้อยที่สุดการเติบโตและพัฒนาแบบก้าวกระโดดของ NFT ก็ถือเป็นเทรนด์สำคัญของยุคที่ควรค่าแก่การจับตามองอย่างใกล้ชิด

อ้างอิง:

Back