Blog
KNOWLEDGE
Ecosystem Business Model คืออะไร? กลยุทธ์รักษาลูกค้าให้อยู่กับเราตลอดไป
OCTOBER 4, 2021
ยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ Ecosystem Business Model ได้เริ่มขึ้นแล้ว ผลการสำรวจโดย Accenture พบว่า 81% ของผู้บริหารเชื่อว่าเส้นแบ่งระหว่างประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรมจะเริ่มไม่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันภายในระบบนิเวศทางธุรกิจที่เชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ลูกค้ายังต้องการประสบการณ์ที่มีทั้งความหลากหลายและเฉพาะเจาะจงตลอด Customer Journey ด้วย บริษัทต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องค้นหาวิธีการใหม่ ๆ ในการส่งมอบคุณค่าที่เหนือกว่าให้กับลูกค้าด้วยการบูรณาการและเชื่อมโยงทุกจุดติดต่อให้เป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือและพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งคือหนทางที่จะช่วยตอบสนองความท้าทายนี้ และสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักว่า Ecosystem Business Model คืออะไร? ทำไมถึงสำคัญ? พร้อมแนวทางการสร้าง Ecosystem เพื่อรักษาลูกค้าให้อยู่กับเราตลอดไป
Ecosystem Business Model คืออะไร?
Ecosystem Business Model หรือระบบนิเวศทางธุรกิจ คือ กลุ่มบริษัทที่มีความสัมพันธ์ส่งเสริมกันในฐานะพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับผู้ใช้ปลายทางหรือลูกค้า โดยพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เหล่านี้สามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาผลิตภัณฑ์ให้กันและกันโดยตรง การรวบรวมผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น หรือการหาช่องทางที่ดีกว่าเพื่อบรรลุเป้าหมายหรือตลาดที่ใหญ่ขึ้น โดยการผสมผสานเหล่านี้ล้วนสร้างสิ่งที่เราเรียกว่า 'ระบบนิเวศทางธุรกิจ'
ตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้ Ecosystem Business Model จนประสบความสำเร็จ เช่น
- Apple ที่มีทั้ง iPhone, iPad, Mac, Apple Watch, Apple TV+, อุปกรณ์เสริม และซอฟต์แวร์ ซึ่งทุกอุปกรณ์สามารถเชื่อมต่อกันได้สะดวก ใช้งานง่าย ให้ User Experience ที่ดี
- Google ที่มีทั้ง Google Meet, Google Maps, Google Calendar, Google Forms, Google Photos และยังมี Google Play Store ซึ่งทุกอย่างสามารถเข้าถึงได้เพียงแค่ Email เดียว แต่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตและการทำงานได้เกือบทุกด้าน
- Disney ที่มีทั้ง Disneyland, Pixar, Marvel, Star war, Fox, ABC News, National Geographic และอื่นๆ อีกมากมาย
ความสำคัญของ Ecosystem Business Model
1. สร้างโอกาสขยายธุรกิจใหม่
กว่า 40% ของธุรกิจเริ่มสร้าง Ecosystem ด้วยการสร้างธุรกิจนอกอุตสาหกรรมของตนเองเพื่อเฟ้นหาลูกค้าใหม่ โดยอาจมีการดึงผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เข้ามาเป็นพันธมิตรด้วย
ตัวอย่าง ปตท. เปิดให้บริการ Cafe Amazon ให้เป็นอีกธุรกิจหนึ่งในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและนักเดินทางมากขึ้น
2. พลิกโฉมธุรกิจด้วยนวัตกรรมจากความร่วมมือของพันธมิตร
การสร้าง Ecosystem ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรคืออาวุธที่ทรงพลัง ไม่ว่าจะด้วยนวัตกรรมหรือเครือข่าย ที่สามารถเปลี่ยนโฉมธุรกิจได้อย่างสิ้นเชิง ทั้งยังทำให้มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนด้วย
ตัวอย่าง LINE MAN ผู้ให้บริการส่งอาหารเดลิเวอรีจับมือกับ Wongnai ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรีวิวอาหารที่มีฐานข้อมูลร้านอาหารมากที่สุดในประเทศไทย ส่งผลให้ LINE MAN เติบโตขึ้นถึง 250%
3. เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและป้องกันการคุกคามจากคู่แข่งรายใหม่
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของธุรกิจ คือ “คู่แข่ง” แม้แบรนด์จะแข็งแกร่งแค่ไหนก็อาจถูกไล่ตามได้ทัน แต่การสร้าง Ecosystem จะทำให้คู่แข่งแซงได้ยากยิ่งขึ้น ทั้งยังทำให้แบรนด์สามารถอยู่ในสนามการค้าได้นานอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ตัวอย่าง Starbucks แบรนด์ร้านกาแฟระดับโลกจับมือกับ After You ทำให้ผู้บริโภคหาซื้อขนมของ After You ได้สะดวกขึ้น และ Starbucks เองก็มีเมนูที่หลากหลายมากขึ้นด้วย ถือเป็นการเสริมเกราะให้ทั้งสองแบรนด์แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
แนวทางการสร้าง Ecosystem ให้ประสบความสำเร็จ
1. คิดแตกต่าง
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การสร้าง Ecosystem ประสบความสำเร็จได้ คือ “ความแตกต่าง” โดยความต่างนี้สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้พวกเขาจงรักภักดีต่อแบรนด์ หากลองสังเกตจะเห็นว่า เมื่อคนใช้ Apple แล้ว น้อยคนนักที่จะเปลี่ยนไปใช้แบรนด์อื่น ทั้งนี้ ก็เพราะ Apple สร้างความแตกต่างให้ตัวเองด้วยมือถือไร้ปุ่มตัวเลข และยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่เชื่อมต่อกันได้ง่าย นับว่าเป็น Ecosystem ที่ประสบความสำเร็จสูงมาก
2. เลือกพันธมิตรที่เหมาะสม
การเลือกพันธมิตรจะต้องทำให้ภาพรวมของธุรกิจได้เปรียบในการแข่งขันในตลาด ซึ่งก่อนเลือกพันธมิตรจำเป็นต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้
- ต้องการพันธมิตรประเภทใด เพราะอะไร
- ความสามารถด้านไหนของพันธมิตรที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตไปด้วยกัน
- อะไรเป็นแรงจูงใจให้พันธมิตรอยากมาเข้าร่วม
3. สร้างระบบที่ดีกับพันธมิตร
เมื่อตกลงเป็นพันธมิตรกันแล้วควรสร้างระบบที่สามารถใช้ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกัน เพื่อลดความขัดแย้งและทำให้การทำธุรกิจเป็นไปตามเป้าหมายอย่างราบรื่น ส่วนไหนสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ยิ่งดี เช่น
- เครื่องมือที่ใช้ในการประสานงานหรือติดต่อสื่อสาร
- แพลตฟอร์มช่วยจัดระบบการทำงาน
- ระบบการจัดเก็บข้อมูลลูกค้า
4. กำหนดเป้าหมายชัดเจน
การมีเป้าหมายจะช่วยให้ทราบวิธีการที่เป็นขั้นตอน ทั้งยังช่วยให้มองเห็นทิศทางของการไปต่อพร้อมวิธีรับมือกับคู่แข่ง ทางที่ดีควรกำหนดเป้าหมายร่วมกันกับพันธมิตรเพื่อให้การทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
5. โปรโมตให้โลกรู้
Ecosystem ที่มีประสิทธิภาพควรประกาศให้โลกรับรู้ว่าผู้บริโภคจะได้อะไรบ้างจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งการเปิดตัวช่วงแรกอาจมีการเปิดให้ทดลองใช้ฟรีหรือจัดโปรโมชันลดแลกแจกแถมเพื่อให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ อะไรที่ฟรีมากเกินไปอาจทำให้ขาดทุนได้ แต่ถ้าน้อยไปก็อาจทำให้การมีส่วนร่วมลดลงเช่นกัน
Summary
แม้ว่า Ecosystem จะเป็นการส่งเสริมกันระหว่างพันธมิตรเพื่อสร้างจำนวนเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค เพื่อให้การทำธุรกิจยั่งยืนและป้องกันการคุกคามจากคู่แข่งรายใหม่
ทั้งนี้ การสร้าง Ecosystem ให้ประสบความสำเร็จอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับความแปลกใหม่เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการเลือกพันธมิตรที่เหมาะสม การสร้างระบบที่ดี และการมีเป้าหมายที่ชัดเจน หากมีทั้งหมดนี้แล้วแต่ไร้ซึ่งการโปรโมต ก็เหมือนกับเข้าใกล้เส้นชัยแต่ไปไม่ถึง
อ้างอิง: