Blog
KNOWLEDGE
EdTech คืออะไร? ตัวอย่าง EdTech Startup ในไทยที่น่าจับตามอง
July 10, 2020
ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อนำมาผนวกเข้ากับระบบการศึกษา จึงพัฒนากลายเป็นสื่อการเรียนรู้สมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และสามารถสนับสนุนผู้เรียนได้มากกว่า หรือเรียกสั้น ๆ ว่า EdTech
นวัตกรรมเพื่อช่วยการศึกษาของ EdTech ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น นำไปสู่การต่อยอดทั้งในระดับองค์กรในการพัฒนาทักษะใหม่แก่พนักงาน และในระดับสถาบันการศึกษาที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องผ่านวิธีการใหม่ ๆ
จึงเป็นอีกหนึ่ง Tech Startup ที่บรรดานักลงทุนต่างให้ความสนใจ
มาทำความรู้จักกับ EdTech โดยละเอียด พร้อมตัวอย่างของ EdTech Startup ในประเทศไทย
EdTech เทคโนโลยีด้านการศึกษา
EdTech (Education Technology) คือ เทคโนโลยีด้านการศึกษา ที่สร้างความแตกต่างจากการเรียนรู้ในแบบเดิม ๆ ให้เกิดรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่หมาะสมกับผู้เรียนทุกช่วงวัย โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกและง่ายต่อการใช้งาน โดยมี resource ที่เหมาะสม
EdTech กับความสำคัญของการศึกษาระดับเยาวชน
แม้ว่าการเรียนในห้องเรียนแบบปัจจุบันจะยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเยาวชน แต่การเข้ามาของ EdTech จะเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยตอบโจทย์โซลูชั่นการเรียนรู้ในการพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ ช่วยเพิ่มคุณภาพของเนื้อหา มีเทคโนโลยีสนับสนุนการเรียนการสอน และสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ที่ทำให้เห็นผลลัพท์ของผู้เรียนชัดเจนยิ่งขึ้น
เยาวชนต้องให้ความสำคัญและใส่ใจด้านการเรียนรู้ แต่ด้วยความแตกต่างของพื้นฐานเด็กแต่ละคน ประกอบกับพฤติกรรมของเยาวชนยุคใหม่ที่เรียนค่อนข้างหนัก อาจทำให้เกิดปัญหาเหนื่อยล้าในการเรียนได้ ซึ่ง EdTech Startup หลาย ๆ รายก็ได้สร้าง Solution ออกมาเพื่อแก้ไขกับปัญหาเหล่านี้
ตัวอย่างเช่น Kahoot! EdTech Startup ในรูปแบบ Game-Based Learning ที่เปลี่ยนแปลงโลกการเรียนรู้ โดยสอดแทรกเนื้อหาบทเรียนลงไปในรูปแบบเกม ซึ่งผู้เรียนจะต้องไขปริศนาโดยใช้เนื้อหาบทเรียนไปด้วยขณะเล่น ให้ผู้เรียนได้ฝึกการใช้ความรู้ด้วยตัวเอง
การใช้เกมเป็นสื่อในการเรียนรู้ เป็นการยกระดับการเรียนการสอนที่จะทำให้ผู้เล่นรู้สึกสนุกและได้ความรู้ ทั้งยังเป็นการปลูกฝัง Growth Mindset ให้เยาวชนมีความใฝ่รู้ใฝ่เรียนในอนาคตอีกด้วย
EdTech กับการศึกษาของผู้เรียนวัยทำงาน
นอกจากเพิ่มประสิทธิภาพด้านการศึกษาให้กับเยาวชนแล้ว EdTech ยังส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของช่วงวัยอื่นอีกด้วย เช่น กลุ่มคนวัยทำงาน ที่ต้องการจะพัฒนาทักษะและความสามารถของตัวเอง ซึ่งปัจจุบันก็มี EdTech Startup หลายรายที่เป็นแหล่งความรู้ใหม่ ๆ
ขอยกตัวอย่าง Coursera, edX และ Udemy ที่เป็นแหล่งรวบรวมหลักสูตรออนไลน์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกเอาไว้มากมาย เช่น Oxford หรือ Cambridge โดยเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าเรียนจากที่ไหนก็ได้ทั่วทุกมุมโลก
นอกจากนี้ยังมีหลายองค์กรที่ได้นำ EdTech มาประยุกต์เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในองค์กรอีกเป็นจำนวนมาก
ความสนใจของนักลงทุนที่มีต่อ EdTech
ในระยะแรกที่ EdTech อยู่ในช่วงเริ่มต้น มีนักลงทุนจำนวนไม่มากเท่านั้นที่ให้ความสนใจ แต่จากผลกระทบของ COVID-19 ทำให้ EdTech กลายมาเป็นอีกหนึ่งธุรกิจ Tech Startup ที่มาแรงมาก ๆ เลยทีเดียว
วิกฤตนี้ทำให้เกิดการ Lockdown คนทั่วโลกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ผู้คนไม่สามารถออกจากบ้านได้ และเยาวชนจำนวนมากต้องเรียนรู้ผ่าน online platform วิกฤตดังกล่าวจึงเป็นตัวเร่งให้เกิดการปรับตัวเรียนรู้ ซึ่ง EdTech ตอบโจทย์ความท้าทายในยามวิกฤตในการช่วยเติมเต็มโอกาสทางการศึกษาได้เป็นอย่างดี
การผนวกเข้ากับ digital platform ของ EdTech ที่สามารถเรียนรู้จากที่ไหนก็ได้ มีระบบ AI ที่คอยประมวลรูปแบบการศึกษาให้เหมาะสมกับผู้เรียน ทั้งยังสามารถวัดผลลัพท์ที่ออกมาได้อย่างชัดเจน ตอบโจทย์ทั้งตัวผู้เรียนและผู้สอน
เมื่อได้สัมผัสกับประสบการณ์ในการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้ ทำให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของ EdTech มากยิ่งขึ้น พร้อมที่จะปรับตัวเรียนรู้ และเห็นความสำคัญว่าจะเป็นประโยชน์กับระบบการศึกษาทั่วโลกในการพัฒนารูปแบบการศึกษาได้อย่างก้าวกระโดดต่อไปในอนาคต ไม่ใช่เพียงในช่วงวิกฤตนี้เท่านั้น
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนหลายรายจับตามอง EdTech มากยิ่งขึ้น
หน่วยงานวิจัยด้านการศึกษา HolonIQ ได้ทำกราฟสถิติการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการศึกษา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 - 2019 จะเห็นได้ว่ามีการลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีล่าสุดก็มีจำนวนมากถึง 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ($7 Billion Dollar)
Image Source HolonIQ
นอกจากนี้ HolonIQ ยังคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2030 จะมีเม็ดเงินเคลื่อนไหวในตลาดเกี่ยวกับการศึกษามากถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ($10 Trillion Dollar) เลยทีเดียว
Image Source HolonIQ
เทคโนโลยีด้านการศึกษานั้นแตกต่างจากการทำธุรกิจเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ไม่ได้เน้นไปที่พื้นฐานของกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยแก้ปัญหาของสังคม ซึ่งก็มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่ยินดีให้การสนับสนุนนวัตกรรมที่ทำให้อนาคตของสังคมนั้นดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไอเดียของนวัตกรรมนั้นจะต้องน่าสนใจ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของความสามารถในการทำกำไร และแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดในปัจจุบันได้จริง จึงจะสามารถดึงดูดใจของนักลงทุนได้
EdTech Startup ที่น่าจับตามองในไทย
มาลองดู EdTech Startup ในประเทศไทย กับแนวทางการทำธุรกิจ และการปรับตัวของพวกเขา
OpenDurian
OpenDurian “เปิด-ดู-เรียน” เป็น EdTech Startup ในรูปแบบของ platform บทเรียนออนไลน์ที่คำนึงถึงความสำเร็จทางการศึกษาของผู้เรียน
โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเอาไว้มากมาย วิเคราะห์ความเหมาะสมสำหรับแผนการเรียนการสอนต่าง ๆ คัดกรองเนื้อหา และระยะเวลาเรียนที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้เรียน
ไอเดียของ OpenDurian เริ่มต้นมาจากการที่อยากจะเปลี่ยนแนวทางการศึกษาในประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น จึงจุดประกายไอเดียในการสร้าง platform เพื่อพัฒนาการศึกษาและมาช่วยให้เด็กนักเรียนสามารถเตรียมตัวสอบได้ดียิ่งขึ้น โดยเลือกทำในรูปแบบ online เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก เรียนกี่โมงก็ได้
ในระหว่างการพัฒนา ได้เผชิญกับอุปสรรคและปัญหามากมาย แต่ก็สามารถพลิกความล้มเหลว สร้างจุดแข็งของ platform ตัวเองด้วยแบบเรียนที่มีคุณภาพ ตรงจุดและตอบโจทย์กลุ่มนักเรียนที่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย
จึงทำให้ OpenDurian ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจากการบอกต่อแบบปากต่อปากของกลุ่มนักเรียน ทำให้รายได้ของ OpenDurian นั้นสูงเกินความคาดหมายถึงหลักล้านบาทตั้งแต่ในปีแรก
insKru
insKru เป็น EdTech Startup คอมมูนิตี้ครู เพื่อแบ่งปันไอเดียด้านการเรียนการสอนของสำหรับวิชาชีพครู
โดยรวมไอเดียต่าง ๆ ที่ร่วมแชร์จากครูทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแผนการสอน สื่อการสอน ชีทแบบฝึกหัด เทคนิคการสอน ไอเดียสำหรับใช้ในห้องเรียน รวมไปถึงสอบถามปัญหาเพื่อขอความช่วยเหลือต่าง ๆ
จุดเริ่มต้นของ insKru เกิดจากการที่ผู้ก่อตั้งมองว่า ในประเทศไทยนั้นมีครูที่สอนเก่ง สอนสนุก พร้อมที่จะแบ่งปันไอเดียอยู่มากมาย แต่ไม่มีพื้นที่ให้แบ่งปัน และในขณะเดียวกันก็ยังมีครูอีกจำนวนมากที่อยากสอนให้ออกมาดี แต่ติดที่ไม่มีไอเดีย
ผู้ก่อตั้งจึงอยากให้มี platform ที่สามารถเชื่อมต่อครูเหล่านี้ให้เข้ามาร่วมแชร์ไอเดียและประสบการณ์ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาที่พบเจอ สร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน ด้วยแนวคิดที่ว่า “เรื่องราวดี ๆ ไม่จำกัดอยู่แค่ห้องเรียนใดห้องเรียนหนึ่ง แต่ส่งต่อไปสู่ห้องเรียนทั่วประเทศ”
insKru ไม่ได้เจาะกลุ่มเป้าหมายที่ผู้เรียน แต่เป็นครูผู้สอน จึงทำให้มีผู้ร่วมวิชาชีพเดียวกันให้ความสนใจกันอย่างมากมาย มีไอเดียที่ร่วมส่งต่อกันมากกว่า 1,000 ไอเดีย ถูกนำไปใช้กว่า 10,000 ห้องเรียนทั่วประเทศ กลายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ ที่ช่วยผลักดันครูไทยให้มีศักยภาพในการสอนเด็กได้ดียิ่งขึ้น
Summary
EdTech ได้แสดงศักยภาพของตัวเองให้เห็นในช่วงปีที่ผ่านมา มีสัญญาณของการเติบโตในอนาคตให้เห็นอยู่มากมาย นอกจากความสำเร็จในแง่ธุรกิจแล้วยังช่วยเหลือสังคมในการพัฒนา เติมเต็มการเรียนรู้แบบ Lifelong Learning ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีให้เห็นในสังคม จึงมีผู้ที่พร้อมให้การสนับสนุนเป็นจำนวนมาก
หากคุณมองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาอนาคตของการเรียนรู้ อย่ารอช้ารีบลงมือทำ เพราะนวัตกรรมของคุณ อาจเป็นกำลังสำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนในปัจจุบัน สร้างเยาวชน และบุคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อคุณภาพสังคมที่ดียิ่งกว่าในอนาคต