News

JANUARY 22, 2021

KATALYST Talk: Brad Phaisan, CEO of OmniVirt

สรุปสาระสำคัญจากงาน KATALYST Talk: Brad Phaisan, CEO of OmniVirt

ในวันที่ 12 มกราคม 2564 ทาง KATALYST เชิญคุณแบดด์ ปรัชญา ไพศาลวิภัชพงศ์ (Brad Phaisan) CEO แห่ง OmniVirt สตาร์ทอัพคนไทยสัญชาติอเมริกา ที่สร้างระบบโฆษณาเสมือนจริง Virtual Reality ให้กับแบรนด์ดังระดับโลกหลายเจ้า มาร่วมแชร์ประสบการณ์ในการทำ Startup ที่ซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) ประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน

คุณ Brad Phaisan เป็นคนไทย เติบโตในประเทศไทย เริ่มต้นอาชีพด้วยการทำงานที่ Microsoft ในประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงไปทำงานต่อที่ Google ซึ่งที่ Google นี้เองเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิด OmniVirt ขึ้น จากการเข้าโปรแกรม Y Combinator หลักสูตรอบรมผู้บริหารสตาร์ทอัพ ที่มอบทั้งเงินทุน ความรู้และ Connection ที่ดีให้กับคุณ Brad Phaisan

OmniVirt เกิดขึ้นจากความรู้และความเชี่ยวชาญจากการทำงานด้านโฆษณาให้กับ Google จึงเกิดเป็นสตาร์ทอัพด้านโฆษณาขึ้น แต่เมื่อสำรวจตลาดและศึกษาคู่แข่งจึงพบว่าทุกคนทำโฆษณาคล้ายกันหมด ดังนั้น OmniVirt จึงเลือกทำเพื่อสร้างความแตกต่าง คือ การทำโฆษณาเสมือนจริง Virtual Reality หรือ VR

ตกผลึกแนวคิดการทำ Startup จาก คุณ Brad Phaisan

จากประสบการณ์ของคุณ Brad Phaisan ที่ทำสตาร์ทอัพสัญชาติไทยในอเมริกา ทำให้ตกผลึกแนวคิดมากมายที่มีประโยชน์ต่อการทำสตาร์ทอัพ ซึ่งสามารถสรุปแนวคิดได้ดังนี้

1. บริษัทต้อง Global ตั้งแต่ระดับโครงสร้าง

การทำสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จในระดับสากล โครงสร้างบริษัทต้องสากลตามไปด้วย ตั้งแต่การจดทะเบียนบริษัทที่ต้องจดในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือทั้งในด้านกฎหมายและด้านธุรกิจ ในส่วนนี้เหมาะสำหรับธุรกิจแบบ B2B ที่ต้องอาศัยความเชื่อใจในการทำธุรกิจร่วมกัน

นอกจากการจดทะเบียนแล้ว ทีมต้องมีวิสัยทัศน์ (Vision) ที่เป็นสากล เพื่อให้องค์กรเกิดความเข้าใจในจุดหมายร่วมกัน ซึ่งทาง OmniVirt ยึดหลักวิสัยทัศน์ที่มองธุรกิจในระดับสากล เป็นหนึ่งในเกณฑ์การรับคนเข้าร่วมทีมอีกด้วย

ส่วนสตาร์ทอัพในไทย หากต้องการสร้างความเป็น Global ต้องเริ่มตั้งแต่การสร้างสินค้าและบริการให้แตกต่าง และสามารถรองรับได้ในระดับสากล เปลี่ยนจากเทคโนโลยีปลายน้ำสู่ต้นน้ำ โดยเริ่มจากการขยายบริการไปยังระดับภูมิภาคก่อน ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการก้าวสู่ระดับสากลต่อไป

2. พัฒนาสินค้าให้รองรับกับความต้องการ

OmniVirt ในวันที่เริ่มต้นจากศูนย์ พวกเขาหาลูกค้าจาก Connection และการทำ Digital Marketing เช่น ทำ SEO ใน Keyword ที่เกี่ยวกับ VR และอัปโหลดคลิปวิดีโอลง YouTube ซึ่งวิธีที่สองทำให้พวกเขาได้ลูกค้าเจ้าใหญ่อย่าง The New York Times

หลังจากมีโอกาสได้ติดต่อเข้าไปขายงานกับลูกค้าแล้ว ลำดับต่อมาคือการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี ดังนี้

1. สอบถามความต้องการ แล้วจึงสร้างผลิตภัณฑ์

สำหรับข้อนี้สิ่งที่สตาร์ทอัพจะได้คือ ความต้องการของลูกค้าโดยตรง ลดระยะเวลาในการลองผิดลองถูก ทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างตรงประเด็น

2. เสนอไอเดีย และให้ลูกค้าทดลองใช้

ในส่วนของข้อนี้สตาร์ทอัพจะนำเสนอไอเดียให้กับลูกค้า แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างและประโยชน์ในการเลือกใช้สินค้า เช่น โฆษณาแบบ VR สามารถใช้กับการขายรถยนต์ได้ ด้วยการถ่ายรอบคัน เป็นต้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวลูกค้ามักจะเสนอไอเดียของพวกเขากลับมา ทำให้สตาร์ทอัพสามารถนำไอเดียดังกล่าวไปพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Virgin ได้เสนอไอเดียเรื่อง การนำ VR ไปใช้ถ่ายโฆษณาในเครื่องบิน พร้อมฟีเจอร์ Interactive เป็นต้น

ทั้งนี้ทาง OmniVirt มักเลือกวิธีการพัฒนาสินค้าแบบที่ 2 เป็นหลัก เพราะนอกจากการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของสินค้าแล้ว สิ่งที่ได้รับกลับมาคือ ไอเดียของลูกค้า ซึ่งจะสามารถนำไปพัฒนาบริการต่อได้ โดยการเลือกไอเดียที่มาพัฒนาบริการต่อ มีหลักดังนี้

1. ต้องตอบโจทย์ลูกค้าหลายเจ้า พัฒนาหนึ่งครั้งแต่สามารถสร้างโอกาสในการขายได้มากกว่าเดิม เพราะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้หลายราย

2. ต้องมี Impact ทั้งจำนวนเม็ดเงินที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีความสำคัญต่อความจำเป็นและประสบการณ์ในการใช้งานของลูกค้า (User Experience) ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด

3. ระยะเวลาต้องพอดี ไม่ใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงที่นานเกินไป

3. การแก้ปัญหาคู่แข่งเยอะ

อย่างที่รู้กันดีว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเต็มไปด้วยสตาร์ทอัพ ยิ่งธุรกิจในด้านสื่อโฆษณายิ่งคู่แข่งเยอะ แต่การที่คู่แข่งเยอะกลับส่งผลดีต่อ OmniVirt พวกเขาจัดการแก้ปัญหาจำนวนคู่แข่งที่มาก ด้วยการหาจุดยืนและจุดขายของบริการ พร้อมทั้งสร้างจุดแข็งไปในตัว

จุดยืนของ OmniVirt

ถึงแม้ว่าคู่แข่งด้านธุรกิจโฆษณาจะมีอยู่เต็มอุตสาหกรรมไปหมด แต่ OmniVirt สร้างจุดยืนด้วยการสร้างโฆษณาแบบ VR เปลี่ยนโฆษณาธรรมดาให้เป็นโฆษณาเสมือนจริง ซึ่งจุดยืนนี้ของพวกเขาช่วยลดจำนวนคู่แข่งแบบเดิมไปได้มาก แถมสร้างโอกาสจากความแตกต่างของบริการด้วย

จุดขายของ OmniVirt

สิ่งที่เป็นจุดขายและทำให้ OmniVirt แตกต่างจากโฆษณาแบบ VR เจ้าอื่นคือ การแสดงผลบนแพลตฟอร์มของลูกค้า โดยทั่วไปแล้วการทำโฆษณาแบบ VR ต้องแสดงผลบนแพลตฟอร์มพิเศษที่รองรับอย่าง YouTube VR หรือต้องใส่อุปกรณ์พิเศษที่สามารถแสดงผล VR ซึ่งจุดนี้เป็นช่องว่างและเป็นโอกาสในการสร้างจุดขายของ OmniVirt ด้วยการสร้างโฆษณา VR ที่สามารถแสดงผลได้ในแพลตฟอร์มของตัวลูกค้าเองอย่างเช่น เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน โดยไม่ต้องแสดงผ่านแพลตฟอร์มอื่น

จุดแข็งของ OmniVirt

เนื่องจากบริการของ OmniVirt เป็น Technology ที่คู่แข่งรายใหญ่สามารถพัฒนาและเข้ามาแข่งขันแย่งลูกค้าได้ ดังนั้น OmniVirt จึงเลือกที่จะสร้างจุดแข็งของตัวเองผ่านการสร้าง Ecosystem อย่างสื่อสิ่งพิมพ์ (Publisher) ที่ซึ่งกลุ่มธุรกิจนี้ต้องการให้ผู้ชมโฆษณาอยู่ในแพลตฟอร์มหรือเว็บไซต์ของตัวเอง เพื่อขายคอนเทนต์ ซึ่ง Ecosystem กลุ่มนี้กลายมาเป็นจุดแข็งที่ทำให้ OmniVirt แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ที่ต้องลงโฆษณา VR ผ่าน Native App

4. การสร้างทีมให้แข็งแกร่ง

สำหรับ OmniVirt เริ่มต้นสร้างทีมให้แข็งแกร่งตั้งแต่การคัดเลือกคน ด้วยสมการที่คุณ Brad ใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการเลือกคน คือ 1+1 ต้องมากกว่า 2 หนึ่งแรกก็คือตัวคุณแบดด์เอง บวกอีกหนึ่งคือคนที่เลือกเข้ามา ซึ่ง 2 คนนี้เมื่อรวมกันแล้วต้องสามารถสร้างสิ่งใหม่ที่ไปได้ไกลกว่า แล้วคนต่อๆ มาก็จะอยู่ในรูปแบบสมการแบบนี้ไปเรื่อยๆ

นอกจากคัดเลือกคนเข้าทีมแล้ว คุณ Brad ยังมีวิธีในการบริหารทีมให้แข็งแกร่ง ด้วย 3 แนวคิดดังนี้

1. ทีมต้องมีวิสัยทัศน์ (Vision) เดียวกัน โดยเฉพาะทีมจากประเทศไทย ต้องมีวิสัยทัศน์ในการแสดงศักยภาพของคนไทยให้ก้าวไกลระดับโลก และนอกจากนี้วิสัยทัศน์ที่ทั้งทีมไทยและอเมริกาต้องมีร่วมกัน คือ วิสัยทัศน์ในการสร้างโฆษณาแบบใหม่ที่แตกต่างจากเจ้าอื่นในตลาด เพื่อทำให้ OmniVirt เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

2. ลดช่องว่างระหว่างทีม ด้วยการสร้างประสบการณ์ทำงานร่วมกัน เนื่องจาก OmniVirt มีทีมทั้งที่ไทยและอเมริกา ดังนั้นจึงมีช่องว่างระหว่างทีมทั้งระยะทางและระยะเวลา ซึ่งทางคุณ Brad แก้ไขปัญหาด้วยการส่งพนักงานใหม่จากไทย ไปทำงานร่วมกันกับทีมที่อเมริกา ไปศึกษากระบวนการทำงานตั้งแต่ การคุยกับลูกค้า ไปจนถึงการถ่ายสินค้า จะทำให้ต่างฝ่ายต่างเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการทำงานของทีม และทำให้ทีมแข็งแกร่งมากขึ้น

3. ต้องทำงานแทนแผนกอื่นได้ โดยทีมของ OmniVirt จะถูกฝึกให้สามารถทดแทนซึ่งกันและกัน ทั้งการเสนอไอเดีย และการช่วยทำงานในตำแหน่งอื่น ซึ่งข้อนี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้และเติบโตภายในบริษัท เป็นการสร้างช่องว่างให้สมาชิกในทีมสามารถเติบโตในสายงานอื่นได้

สิ่งที่คุณ Brad Phaisan ฝากไว้ให้กับสตาร์ทอัพไทย

หัวใจของการเติบโตสตาร์ทอัพไทยในต่างประเทศ คือ ต้องเปลี่ยนจากการรับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ไปสู่การสร้างเทคโนโลยีเพื่อไปสู้กับต่างประเทศ โดยเริ่มต้นจากการสร้างเทคโนโลยีเพื่อบุกตลาดระดับภูมิภาคก่อน จะเป็นบันไดก้าวแรกที่ทำให้สตาร์ทอัพไทยก้าวไปสู่ระดับสากลได้

Back